top of page
Writer's pictureclassyuth

PM 2.5 : วัฎจักรฝุ่นบนเส้นทางพัฒนา

นักวิชาการชี้มาตรการจัดการปัญหาฝุ่นล่าช้า รัฐไม่พร้อมรับมือ PM 2.5 ปลายปี แนวโน้มปัญหารุนแรงและเรื้อรัง : สาเหตุจากความขัดแย้งระหว่าง การส่งเสริมเศรษฐกิจ กับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคน ในสังคม


ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา PM 2.5 กลับมาอีกครั้ง แม้เป็นช่วงสั้นๆ แต่ตอกย้ำความเชื่อ ของคนกรุงเทพที่ว่าฝุ่นจะกลับมาอีก และไม่เชื่อมั่นว่ารัฐจะแก้ปัญหาระยะยาวได้ สอคล้องกับความเห็นของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ที่ชี้สาเหตุมาจาก รัฐให้ความสำคัญ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เหนือกว่ากว่าผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)แจงความจำเป็นต้องดันเศรษฐกิจโตร้อยละ 5 ต่อปี รับสถานการณ์ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย


“สิ่งที่ทำก็คือเตรียมลูกให้พร้อมกับยุคฝุ่น ปัญหาหลายๆ อย่างใหญ่เกินมือแม่เอื้อม โลกกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่เราต้องเผชิญกับมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มากยิ่งขึ้น เด็กๆ ต้องเรียนรู้และปรับตัว” มิรา ชัยมหาวงศ์ นักการศึกษา แม่ลูกสอง เล่าถึงการรับมือ กับปัญหาฝุ่นช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งดูแลร่างกายให้แข็งแรง ให้ความรู้เรื่องอันตรายจากฝุ่น ตรวจวัดค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน งดเล่นกลางแจ้งในวันที่ค่าฝุ่นสูง และการสร้างจิตสำนึก ให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

“พาลูกเดินทางด้วยรถสาธารณะ ซึ่งก็ลำบาก แต่เด็กๆ เขาอยากจะทำ เขารับรู้ปัญหา และอยากจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น”

“ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ ที่ต้องให้ลูกใส่หน้ากาก” กัลยารัตย์ จักรสุวงศ์ พนักงานขายสินค้า เล่าความรู้สึกของแม่ที่ต้องพาลูกวัยสามขวบซ้อนมอเตอร์ไซค์สามีจากกระทุ่มแบนมา ทำงานย่านพุทธมณฑล เป็นระยะทางกว่า 60 กิโลเมตรทุกวัน “รู้ว่าฝุ่นอันตราย บนถนนควัน เยอะมาก แต่เราก็ต้องมาทำงาน ช่วงที่ฝุ่นเยอะก็ให้ลูกใส่หน้ากาก เขาไม่ค่อยชอบมันอึดอัด”

“คิดว่ารัฐบาลไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ โรงงานยังปล่อยควันดำตลอด ทุกวันนี้เข้าไปย่าน โรงงาน แสบจมูกมาก หายใจไม่ได้เลย ก็ยังสงสัย คนแถวนั้นเขาอยู่กันได้อย่างไร หรือเขาจะชิน”


มาตรการแก้ปัญหาขาดความชัดเจนและล่าช้า


“ถ้าไม่จริงจังกับการแก้ปัญหา บอกได้เลยว่า ปลายปีนี้ก็มา และจะมาในปีต่อๆ ไป การจัดการปัญหาให้สำเร็จ สุดท้ายแล้วขึ้นกับฝ่ายการเมือง ที่ต้องมีนโยบายชัดเจน ต้องทุบโต๊ะลงมาว่าจะทำ ข้างล่างพร้อมทำได้หมด” ดร. สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะ สาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งทำงานด้านคุณภาพอากาศ มามากกว่า 30 ปี ระบุสาเหตุความล่าช้าของการจัดการปัญหาPM2.5


“ถ้าไม่มีมติหรือนโยบายที่ชัดเจน คนที่จะเดินก็เดินลำบาก โดยเฉพาะภาคเอกชน เขาก็จะไม่เดินหน้า รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ออกเป็นกฎหมายยิ่งดี ไม่อย่างนั้นเขากลัวว่า ลงทุนไปแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายหลัง ดังนั้นเมื่อไรที่ไม่มีการตัดสินใจของฝ่ายนโยบาย ทุกอย่างก็จะล่าช้าออกไป ” อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยกกรณีการปรับปรุงมาตรฐาน น้ำมันเชื้อเพลิง ให้มีกำมะถันไม่เกิน 10ppm(เทียบเท่ามาตรฐาน EURO 5) ที่ล่าช้าจากแผนถึง 13 ปี

เดิมไทยกำหนดปรับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงหลังสหภาพยุโรป(EU) 2 ปี ดังนั้นเมื่ออียู เริ่มใช้มาตรฐานยูโร 5 ในปี 2552 ไทยควรปรับตามตั้งแต่ปี 2554 แต่กลับเพิ่งเริ่มใช้ยูโร 4 ในปี 2555 และยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ไอเสียจากรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 มีความเข้มข้นสูงกว่า มาตรฐานยูโร 5 ถึง 5 เท่า

“ในการปรับเปลี่ยน มีผู้เสียประโยชน์ บางทีเขาไม่อยากลงทุน ก็ไปล็อบบี้ เพื่อยืดเวลา ออกไป ยูโร 4 ล่าช้าไปจากแผนมาก ส่วนยูโร 5 เจรจากับภาคเอกชนมาสองสามปี เพิ่งได้ข้อตกลงเมื่อปีที่แล้ว ว่าผู้ผลิตน้ำมันจะใช้เวลา 5 ปีหลังจากมีมติที่ชัดเจน ในการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมัน ล่าสุดว่าจะเริ่มทำในปี 2565 แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีมติออกมา” ดังนั้นการปรับมาตรฐานน้ำมัน จึงอยู่ในระว่างรอมติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน


ในการเจรจาเพื่อปรับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้ผลิตรถยนต์และโรงกลั่นน้ำมัน จะตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้ความเห็นว่า บางครั้งเป็นกลยุทธของผู้ประกอบการ “ทุกประเทศที่ปรับปรุงมาตรฐานน้ำมัน เขาศึกษา มีข้อมูลชัดเจนว่า ผลประโยชน์ที่ได้ มากกว่าทุนที่ลงไปอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อภาคเอกชน เขาไม่อยากลงทุน ก็พยายามหาเหตุมาชะลอการลงทุน เช่น ต้องการข้อมูลของไทย ทำให้ล่าช้าไปอีก ต้องรอกว่าจะศึกษาเสร็จ

“การดำเนินตามนโยบายส่วนหนึ่ง ลำบากเพราะการต่อรอง”


ทั้งนี้ไอเสียจากรถยนต์ดีเซลคือที่มาหลักของฝุ่นPM 2.5 ในกรุงเทพ มาตรการปรับ มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงและมาตรฐานเครื่องยนต์ จึงมีความสำคัญในฐานะเครื่องมือ ควบคุมมลพิษที่แหล่งกำเนิด

“การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือแหล่งกำเนิดมลพิษ การแก้ที่ปลายทาง เช่น ใช้เครื่องกรองอากาศ มีประโยชน์น้อยมาก ต้นทุนสูง และที่สำคัญผู้ก่อมลพิษไม่ต้องจ่าย การจัดการที่ต้นทาง ทั้งลงทุนน้อยและทำให้ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ” ดร.สุพัฒน์สรุป




ชะลอการปรับค่ามาตรฐาน PM2.5


นอกจากค่ามาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง การปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 เป็นมาตรการสำคัญ ที่นำไปสู่การควบคุมมลพิษ ที่แหล่งกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะ โรงงาน โรงไฟฟ้า การเผาในที่โล่ง ฯลฯ เพื่อไม่ให้ค่า PM2.5 โดยรวมในบรรยากาศ เกินมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เลื่อนการประกาศ ปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 35 มคก./ลบ.ม. ที่เปอร์เซ็นไทล์ 95 (คือยอมให้มีวันที่ค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานได้ร้อยละ 5 หรือ 18 วัน ในหนึ่งปี) โดยให้เหตุผลว่า ระบบคมนาคมขนส่ง ต้องเสร็จสมบูรณ์ และต้องเก็บข้อมูลอีก 6-7 ปี รอให้ค่า PM 2.5 ในบรรยากาศอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่กำหนด เพื่อไม่ให้การบังคับใช้มาตรฐานใหม่ ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนเศรษฐกิจหลักของประเทศ

ขณะที่ ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการ ศูนย์เครือข่ายการจัดการ คุณภาพอากาศของประเทศไทย (Thailand Network Center on Air Quality Management : TAQM) ให้ความเห็นต่างออกไปว่า

“เวลานี้กรมควบคุมมลพิษมีข้อมูลค่า PM 2.5 ที่เก็บมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งค่าเฉลี่ย ทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 30-40 มคก./ลบม. ฉะนั้นประเทศไทยคงต้องกำหนดเวลาที่แน่นอน ในการปรับค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงจาก 50 มคก./ลบม. ลงมาที่ 35 มคก./ลบม.เท่ากับของอเมริกาได้หรือยัง

“รัฐจำเป็นต้องปรับค่ามาตรฐานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เทคโนโลยีใหม่ๆ ปล่อยมลพิษน้อยลง รัฐสามารถตีกรอบให้เข้มงวดขึ้น และควรกำหนด เป้าหมายที่จะปรับลดค่ามาตรฐานลงให้เท่ากับเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก(WHO) คือ 25 มคก./ลบม. ในลำดับต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ หากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกัน ดำเนินงานในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ ควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด อย่างจริงจัง โดยมีเป้าร่วมกันอยู่ที่สุขภาพของคนไทย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องใช้มาตรฐาน WHO ในวันนี้ แต่ต้องมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน”

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกจึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ทุกประเทศจะต้องเร่งจัดการ มาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มงวดขึ้นในระยะยาว แต่ค่ามาตรฐานPM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงของไทย ยังคงสูงกว่าเกณฑ์องค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่า และไม่ได้ปรับเปลี่ยน นับแต่กำหนดขึ้นในปี 2553 ทั้งที่กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่ต้องทบทวน และปรับปรุง ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศทุก 5 ปี


ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ที่เก็บอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปี 2562 แสดงให้เห็นว่าในช่วงฤดูแล้ง(พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) ปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน มาตลอด 8 ปี

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่ทราบถึงอันตรายของอากาศที่ตนเองหายใจ ช่วงวิกฤตฝุ่น ปี 2562 หน่วยงานรัฐแจงว่า ฝุ่น PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อเมื่อมีความเข้มข้นมากกว่า 90 มคก./ลบม. และต้องมีค่าความเข้มข้นเกิน 100 มคก./ลบม. ต่อเนื่องกันมากกว่า 3 วัน จึงถือว่าเข้าสู่ภาวะวิกฤต

ในขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่า มีระดับPM 2.5 ที่ ปลอดภัย หรือไม่แสดงผลเสียต่อสุขภาพอนามัย


ละเลยมิติสิ่งแวดล้อม


“ที่ผ่านมารัฐไม่ได้สร้างความตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบจากมลพิษทางอากาศรวมถึงฝุ่น PM2.5 ให้กับประชาชน ทั้งที่การสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตราย และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันตนเอง เป็นวิธีการที่ต้นทุนต่ำที่สุดแต่ให้ประโยชน์สูง” ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นและว่า การประเมินปัญหา ต่ำกว่าความเป็นจริง และการชะลอมาตรการสำคัญๆ ในการแก้ปัญหาฝุ่น “สะท้อนว่ารัฐ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมน้อย” ในขณะที่มุ่งรักษาเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทิศทางการจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายภาครัฐช่วงล่าสุด (พ.ศ. 2558–2562) สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายด้านการเศรษฐกิจ สูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากงบประมาณรายจ่าย ด้านการบริหารทั่วไปของรัฐ ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายด้านสิ่งแวดล้อม มีสัดส่วนน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่าย ตามลักษณะงานอื่นๆ

“หากเทียบกับ GDP(ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) งบประมาณรายจ่าย ด้านสิ่งแวดล้อมของไทย อยู่ที่ร้อยละ 0.05 ของ GDP น้อยกว่าอเมริกาใต้ 2 เท่า ห่างจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน 12.8 เท่า และต่ำกว่าสหภาพยุโรป 14 เท่า”


The World Bank และ Institute for Health Metrics and Evaluation University of Washington, Seattle (2560) ได้จัดทำแบบจำลองเพื่อประเมินต้นทุนความเสียหายจากมลพิษ ทางอากาศทั่วโลก เปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ. 2533 และปี พ.ศ. 2556 พบว่าในปี พ.ศ. 2556 มีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากมลพิษทางอากาศสูงถึง 5.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน10 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด สำหรับประเทศไทย ประเมินว่า มีผู้เสียชีวิต 31,173 คน ในปี 2533 และเพิ่มเป็น 48,819 คน ในปี 2556 และก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ สูงถึง 210,603 ล้านบาท ในปี 2533 ก่อนเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวเป็น 871,300 ล้านบาท ในปี 2556

“เศรษฐกิจดีขึ้นจริง แต่คำถามคือ ยั่งยืนหรือไม่ แต่ก่อนเราอ้างว่าเราเป็นประเทศยากจน ต้องพัฒนาเศรษฐกิจก่อน แต่ตอนนี้ เศรษฐกิจก็ดีขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว ถึงเวลาหรือยัง ที่เราต้องจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่าลืมว่า การตัดสินใจของเราส่งผลกระทบต่อคนในอนาคต

“ในทางเศรษฐศาสตร์ เราไม่เพียงคิดถึงการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะต้องคำนึงถึงเป็นธรรมตลอดช่วงเวลาด้วย” ดร.วิษณุ สรุปสอดคล้องกับความเห็นของ หัวหน้าโครงการ ศูนย์เครือข่ายการจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทย ที่ว่า ปัญหามลพิษทางอากาศมาจากการที่ “เราให้ความสำคัญกับมิติทางเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก มิติทางสังคมรองลงมา ละเลยมิติสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จะไทยแลนด์ 4.0 หรือไม่ ไม่มีความหมายถ้าเรายังใช้ GDP เป็นดัชนีวัดความสำเร็จ”



แนวโน้มในอนาคต


ชล บุนนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน สรุปเส้นทางการพัฒนา ของไทยที่เริ่มขึ้นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ในปี 2504 ว่ามีสาระสำคัญที่ “การพัฒนาไปสู่ความทันสมัย โดยมีประเทศอุตสาหกรรมเป็นต้นแบบ เริ่มจากการสร้าง ให้ภาคเกษตรซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมไทยโตขึ้น เพื่อนำส่วนเกินไปขยายภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้โตต่อไป”

การส่งเสริมการเกษตร นำไปสู่การขยายพื้นที่เกษตรเข้าไปในพื้นที่ป่า ใช้ทรัพยากร น้ำ ดิน อย่างเข้มข้น ในขณะเดียวกันเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและบริการขยายตัว อย่างรวดเร็ว พร้อมกับมลพิษที่เพิ่มตามเป็นเงา

“การพัฒนาช่วงต้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งราวปี2530 ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมปรากฎชัดขึ้น ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม การสร้างความเติบโตยังคงเป็นสาระหลัก และตัวเลข GDP ยังใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ” ชลสรุป

การเติบโตทางเศรษฐกิจและตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของ GDP ส่วนทางกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่ร่อยหลอ และปัญหามลพิษที่สะสมจนถึงจุดวิกฤต

ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Life Index) ซึ่งจัดทำโดย Energy Policy Institute at the University of Chicago (EPIC) ชี้ว่า สำหรับพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล การเติบโตของภาค อุตสาหกรรม และความหนาแน่นของยานพาหนะ ทำให้มลพิษทางอากาศในปี 2560 เพิ่มสูงขึ้น จากปี 2552 ราว 23% ส่งผลให้อายุขัยคนกรุงเทพลดลง 2.4 ปี ส่วนคนในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีระดับมลพิษสูงกว่ากรุงเทพ จะมีอายุขัยสั้นลง 3.6 ปี

ภายใต้ทิศทางการพัฒนาประเทศข้างต้น ทำให้มาตรการในการจัดการปัญหาวิกฤตฝุ่น ขัดแย้งกับมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจ เช่น มาตรการเพิ่มความเข้มงวดตรวจจับรถควันคำ แต่ไม่มีมาตรการควบคุมปริมาณรถ ในช่วงวิกฤตฝุ่น เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2562 ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก แสดงให้เห็นว่า ในกรุงเทพ มีรถจดทะเบียนใหม่ทุกประเภท รวมกัน 179,974 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลและรถปิกอัพ รวม 92,627 คัน

ในทำนองเดียวกับมาตรการห้ามเผาในที่โล่ง ในขณะที่ยังคงส่งเสริมการปลูก พืชเชิงเดี่ยว โดยไม่มีมาตรการควบคุมการเผาของเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ส่งเสริมปลูกข้าวโพดในนาข้าว รวม 2 ล้านไร่ ช่วงพฤศจิกายน 2561 ถึงกุมภาพันธ์ 2562 โดยมีประกันราคา ทั้งนี้เป็นไปตาม MOU ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ ธ.ก.ส. กับกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ และบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์ทั้งของไทยและบรรษัทข้ามชาติ เช่น ซีพี มอนซานโต้ ซินเจนทา แปซิฟิคซีดส์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ซึ่งมีการคำนวณว่า บริษัทเมล็ดพันธุ์จะได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด 6-7 ล้านกิโลกรัม/ปี


ปรับทิศทางการพัฒนาประเทศ

ในส่วนของทิศทางการพัฒนาประเทศ จินางค์กูร โรจนนันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบาย และแผนงาน ทรงคุณวุฒิ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แจงว่า

“ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เราปรับทิศทางมาตั้งแต่แผน 8 (พ.ศ.2540-2544) ที่มุ่งให้คนเป็นศูนย์กลาง สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ในแผน 9 (พ.ศ.2545-2549) เริ่มนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

“สภาพัฒน์ฯ วางแผนโดยพิจารณาจากทุนของประเทศเป็นหลัก ทั้งทุนทางเศรษฐกิจ ทุนสังคม และทุนมนุษย์ สำหรับแผนปัจจุบัน(แผน 12 พ.ศ.2560-2564)เป้าหมายคือ การก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่รายได้สูง เพื่อรับมือกับการเป็นสังคมสูงวัย ที่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมรองรับไม่ได้ เพราะกำลังแรงงานลดลง จำเป็นต้องปรับการผลิต มาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน เป้าหมายคือ เศรษฐกิจต้องโตไม่ย่ำกับที่ แต่ต้องเป็น Green Growth ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”

“แผน12 วางเป้าการเติบโตของ GDP ที่ร้อยละ5 ต่อปี ซึ่งก็ยาก ตอนนี้เราทำได้ที่ ประมาณ ร้อยละ 2.5-3”


นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ดร. สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดี คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มีความเห็นที่แตกต่างออกไป “ปัญหาคือ เราคิดแค่ตอนนี้ แค่ประโยชน์วันนี้ เช่นเดียวกับหน่วยงานราชการที่กำหนด GDP เพื่อคนในวันนี้ ไม่ได้คิดถึง การกำหนด GDP สำหรับคนในอนาคต ผมมองว่า การศึกษาและการรับรู้ ถึงความสำคัญ ของสิ่งแวดล้อม จะช่วยปรับ mind set ของคนทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่า ให้คิดถึงประโยชน์ของคนในอนาคต

“นอกจากนี้คนในสังคมต้องมีส่วนในการกำหนดอนาคตของตนเอง ไม่ใช่ปล่อย ให้ขึ้นกับคนไม่กี่คน หรือหน่วยงานไม่กี่หน่วยงาน เมื่อไรที่สังคมเราไปถึงจุดนั้น เราจึงจะมีความหวัง” ดร. สุรัตน์ ตอบคำถามของคนกรุงเทพที่ว่า “เรามีความหวังไหม กับอนาคต ที่เราจะสามารถมองหน้าลูกและบอกกับเขาได้ว่า เมื่อเขาโตขึ้นและแก่ลง เขาจะได้อยู่ในโลกที่ดีเหมือนเดิม”


หมายเหตุ ได้รับการสนับสนุน





6 views0 comments

Comments


bottom of page