top of page
Yuttana Varoonpitigul

โลกร้อน จะนะร้อน

ปี 2021 ปีแห่งความแปรปรวนของสภาพอากาศทั่วโลก ยังต่อเนื่องในปี 2022 และความสำคัญของจะนะต่อปัญหาโลกร้อน



สำนักงานด้านวิทยาศาสตร์ของสหรัฐ 2 แห่ง คือ องค์การบริหารการบินและอวกาศ หรือนาซา (NASA) และสำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ หรือ โนอา (NOAA) ระบุในรายงาน ปี 2021 ตรงกันว่า อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยตลอดปี 2021 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 ราว 0.85 องศาเซลเซียส โดยช่วง 8 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติมา หากเทียบกับเมื่อ 140 ปีก่อน อุณหภูมิของโลกในช่วง 10 ปีหลัง สูงขึ้นเกือบ ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อยืนยันว่า โลกกำลังร้อนขึ้น

ความร้อนที่เพิ่มขึ้นนี้ สัมพันธ์กับการเกิดสภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้ว ในทุกภูมิภาคของโลก เช่น คลื่นความร้อนรุนแรงริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก แถบตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ฝนตกหนักจากเฮอริเคนไอดา ตลอดจนน้ำท่วมใหญ่ในเยอรมนีและจีน

นาซายังระบุว่า แนวโน้มในระยะยาวค่อนข้างชัดเจนว่า โลกจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะเป็นที่แน่นอนว่าภายในปี 2040 อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น เกิน 1.5 องศาเซลเซียส อันเป็นเป้าหมายที่พยายามจะตรึงไว้ตามความตกลงกรุงปารีส 2015 และอุณหภูมิโลกจะไม่ลดลง หากยังไม่สามารถควบคุม ปริมาณก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศโลกตั้งแต่ตอนนี้ ทั้งนี้ ก๊าซคาร์บอนมีที่มาหลักจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการผลิตในระบบอุตสาหกรรม และการเผาผลาญพลังงาน

ส่วนสถานการณ์ในประเทศ รัฐไทยยังคงเดินหน้าโครงการเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในนามของการพัฒนา หนึ่งในนั้นก็คือ โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่ต่อเนื่องจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชาย (ปี พ.ศ.2557) ตามประกาศจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ 3350/2562 เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม เฟส1 ขนาดพื้นที่ถึง 10,500 ไร่ ในชุมชนมุสลิม อ.จะนะ จ.สงขลา

โครงการจะนะอ้างอิงถึงผลประโยชน์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการจ้างงาน ในขณะที่คนในพื้นที่พยายามคัดค้านโครงการ จากข้อมูลที่แสดงถึงความเสี่ยงต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ทั้งบนบกและทางทะเล รวมถึงมีข้อมูลการกว้านซื้อที่ดินของนักการเมืองอาวุโสภาคใต้ เพื่อขายให้ทุนใหญ่ระดับชาติ

ขณะที่บทความจากทีดีอาร์ไอ โดยดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ตั้งแต่สองปีก่อน ได้ตั้ง 5 คำถาม ถึงโครงการที่ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างสันติสุขและยั่งยืนตามประกาศของ ศอบต.อย่างไร

นำไปสู่ เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายและจับกุมชาวบ้านจะนะ ซึ่งชุมนุมอยู่บริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามคำตอบจากนายกรัฐมนตรี (ผู้ที่ส่ง รมช.เกษตร ธรรมนัส พรหมเผ่า ไปทำข้อตกลงกับชาวบ้าน เมื่อ1 ปีก่อน) การสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ดังกล่าว ส่งผลให้ เครือข่ายสิทธิมนุษยชน องค์กรประชาสังคมและกลุ่มนักวิชาการ ออกมาเคลื่อนไหวประณามการสลายและจับกุมผู้ชุมนุม 37 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงสูงอายุ

หลังการสลายการชุมนุม ทำให้ชาวบ้านจากพื้นที่จะนะเดินทางขึ้นมาสมทบ และร่วมกับเครือข่ายชาวบ้าน ตลอดจนกลุ่มประชาสังคมต่างๆ ประกาศเรียกร้องความยุติธรรม หน้าสำหนักงานสหประชาชาติ เป็นการยกระดับปัญหาขึ้นสู่เวทีนานาชาติเพื่อกดดันรัฐบาล

ท้ายที่สุด รัฐบาลยอมรับข้อเรียกร้องของชาวจะนะ ที่ต้องการให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของการพัฒนา(Strategic Environmental Assessment: SEA) แบบมีส่วนร่วมของชาวบ้าน รวมถึงขอให้คณะผู้ศึกษาประกอบด้วยกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในสัดส่วนอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลและสังคมมีข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องครบถ้วน ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะต่อไป

น่าสนใจ ว่า Sea หรือ การประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการประเมินบน 3 ฐาน คือ เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม-สังคมวัฒนธรรม อย่างเป็นสมดุลและ ต้องมีข้อเสนอเชิงทางเลือกเสมอ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศในโลกนำมา ใช้เพื่อเข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังพบว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental impact assessment) อยู่ภายใต้กรอบที่คับแคบของการประเมินเฉพาะตัวโครงการและขาดทางเลือก

ส่วนในประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้การเสนอโครงการต้องศึกษา SEA กำหนดไว้แค่เพียง EIA ดังนั้นข้อเรียกร้องของชาวจะนะ จึงนับเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญของการเคลื่อนไหวภาคประชาชน เพื่อสร้างสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ผ่านการ ใช้เครื่องมือการประเมินการพัฒนาที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น จัดการความขัดแย้งอย่างมีข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชุมชนในพื้นที่

อ้างอิง

1.บทความวิจัย Strategic environmental assessment can help solve environmental impact assessment failures in developing countries ,ใน Environmental impact assessment review

2. https://tdri.or.th/2020/10/chana-industrial-estate/ 5 คำถามต่อการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ

https://www.bangkokpost.com/business/2077863/environmental-reviews-for-chana-estate

5 views0 comments

Kommentare


bottom of page