แลนด์บริดจ์ โครงการมูลค่าหนึ่งล้านล้านที่กำลังจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า( พ.ศ.2568) นี้ ท่ามกลางความหวังถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภาวะตกต่ำ ในขณะที่ยังมีข้อโต้แย้งถึงความคุ้มค่า ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การกระจายรายได้ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงความ
เสี่ยงอื่นๆ ในอนาคต ตลอดจนคำถามถึงทิศทางการพัฒนาที่ภาครัฐของไทย ยังคงมุ่งหน้าสู่ความทันสมัยและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมรวมถึงโรคระบาดใหม่ๆ เรียกร้องให้ทั่วทั้งโลกทบทวนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน
แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง : จากการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) คือ อะไร ประกอบด้วยอะไร?
โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน เสนอโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) โดยระบุเป้าหมายเพื่อ "ส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ" โดยการบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยงสองท่าเรือจากสองฟากฝั่งทะเลเข้าด้วยกันแบบ "ไร้รอยต่อ" และตามแผนการโครงการนี้จะเริ่มขึ้นในปี 2567 นี้
ภาพโครงการแลนด์บริดจ์ จากการนำเสนอของ สนข. ใน https://www.landbridgethai.com/project/
จากเป้าหมายข้างต้นนำมาสู่โครงการแลนด์บริดจ์ (LandBridge) หรือ 'สะพานบก' ของไทย ที่เป็นระบบขนส่งรวมขนาดกว้างอย่างน้อยสุด 160 เมตร ระยะทาง 90 กม. จาก แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร ผ่านพื้นที่หลักใน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ไปสิ้นสุดที่ อ่าวอ่าง อ.เมือง จ.ระนอง
ทั้งนี้เส้นทางในโครงการแลนด์บริดจ์ คือ เส้นทาง MR 8 เป็นการสร้างระบบขนส่งรวมใหม่แยกต่างหากจากถนนขนส่งเส้นเดิม (หมายเลข4006) เชื่อมท่าเรือน้ำลึกฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก โดยระหว่างเส้นทางจะเป็นแนวเส้นทางคมนาคมที่มีรั้วปิดล้อม เหมือนมอเตอร์เวย์ข้ามจังหวัด โดยภายในรั้วรอบสองฝั่งจะประกอบด้วย ระบบรถไฟขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์แบบรางคู่ 4 ราง มอเตอร์เวย์ 6 เลน ท่อลำเลียงแก๊สและน้ำมัน 2 ท่อ และสุดท้ายคือ ถนนดูแลบริการระบบบริเวณสุดขอบซ้ายขวาแต่ละข้างรวม 2 เลน โดยเส้นทางนี้ต้องเจาะอุโมงค์สำหรับรถและรถไฟรวม 3 จุด (เส้นสีเหลืองในภาพ) คิดเป็นระยะทางรวมประมาณ 21 กม.
ภาพจากเอกสารการประชุมกลุ่มย่อย ของสนข. https://www.landbridgethai.com/wp-content/uploads/2022/
ภาพจากเอกสารการประชุมกลุ่มย่อย ของสนข. https://www.landbridgethai.com/wp-content/uploads/2022/
ส่วนที่ชุมชนตั้งคำถามต่อการศึกษาของสนข. :
ต้นทุนนิเวศและชุมชนในพื้นที่
ภาพจำลองจากการศึกษากับสภาพภูมิศาสตร์ในพื้นที่จริงของ อ.พะโต๊ะ ที่เส้นทางส่วนใหญ่ พาดผ่าน อาจไม่เป็นดังภาพที่สร้างขึ้นหน้าจอ เพราะภูมิศาสตร์พื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ภูเขา 80% และมีพื้นที่ราบแคบๆ ระหว่างช่องเขาเพียง 20% ของพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ช่องเขาเหล่านี้จะเป็นเครือข่ายลำห้วย ลำธารที่เป็นแหล่งน้ำของสวนในพื้นที่ และกิจกรรมต่างๆทางเศรษฐกิจ เช่น กิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของ อ.พะโต๊ะ คือการล่องแก่งธรรมชาติ
ความกังวลต่อผลกระทบจากการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมท่าเรือสองฝั่งทะเล ที่เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ ต่อระบบเครือข่ายลำธารในพื้นที่ ที่ไหลลงทะเล ตลอดจน การเจาะอุโมงค์ ผ่านภูเขา 3 แห่ง ระยะทาง 21 กม. ที่ต้องใช้พื้นที่ของ อุทยานแห่งชาติหงาว และการถมทะเลเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและลานคอนกรีตรองรับระบบรถไฟขนสินค้าและรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล 2 แห่ง ที่กำลังได้รับการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อชุมชนทในเขตพื้นที่โครงการ ทั้งโดยตรงและผลกระทบทางอ้อม อาทิ ผลกระทบต่อระบบนิเวศ พื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำ ของ อ.พะโต๊ะ ซึ่งภาคประชาชนใน อ.พะโต๊ะ ยกขึ้นมาให้เห็นว่า เป็นประเด็นหนึ่งที่ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาของ สนข. ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร และจะมีมาตรการการจัดการเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบและแก้ไขผลกระทบอย่างไร
ขณะที่มีการนำเสนอความคุ้มค่าของการลงทุนและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ปรากฎในรายงานการศึกษาและเอกสารประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่โครงการเริ่มออกมาแสดงตัวและเคลื่อนไหวผ่านสื่อออนไลน์ สืบเนื่องจากความไม่ชัดเจนในการชี้แจงผลกระทบจากโครงการของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปัจจุบันส่งสัญญาณเดินหน้าโครงการ เริ่มจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินสายระดมทุนจากต่างประเทศ โดยใช้การศึกษาของ สนข.เป็นหลัก ขณะที่มีการศึกษาก่อนหน้านี้ของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ยกกระเด็นปัญหาความคุ้มค่าในการลงทุน
ตัวอย่างรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ส่วนท่าเรือน้ำลึก ที่จะปรับพื้นที่ป่าชายเลนและทะเล บริเวณอ่าวอ่าง จ.ระนอง
และแหลมริ่ว จ.ชุมพร พื้นที่รวม 12,783 ไร่ โดยการถมทะเลและปรับพื้นที่จัดวางคอนเทนเนอร์และเครนยกให้เป็นเป็นท่าเรือน้ำลึกสำหรับเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ และเฟส2 จะถมทะเลเพิ่มเพื่อขยายท่าเรือ
New Geo politics
ในปี ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521 ) จีนจัดอยู่ในกลุ่มประเทศยากจน และต่อมาเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจโดยการนำของเติ้งเสี่ยวผิง กระทั่ง 28 ปี ต่อมา จากรายงานธนาคารโลกในปี ค.ศ.2006 จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอับดับ 4 ของโลก แต่เป็นผู้บริโภคพลังงานน้ำมันอันดับสองของโลก และคาดการณ์ขณะนั้นว่าในสิบปีหน้าจีน จะใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.8% ต่อปี ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจระหว่างปี ค.ศ.2006-2019 ที่คาดว่า GDP จีนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9% ต่อปี
ทั้งนี้ พลังงานส่วนใหญ่ที่จีนต้องใช้ในการพัฒนาประเทศ ต้องขนส่งผ่านช่องแคบคาบสมุทรมลายู จีนจึงริเริ่มการผลักดันโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (One Belt One Road) เพื่อขยายการค้าและการลงทุน
ภายใน 4 ปี นับจาก ค.ศ.2006 ขนาดเศรษฐกิจของจีนขยับจาก อันดับ 4 เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยในปี ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) จีนมีขนาดเศรษฐกิจรองจากสหรัฐอเมริกา และในปี ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา GDP จีน เท่ากับ 446 ล้านล้านบาท เทียบกับ 4.5 ล้านล้านบาทในปี ค.ศ. 1978 เศรษฐกิจจีนโตขึ้น 100 เท่าใน 41 ปี และคาดว่าในปี ค.ศ. 2028 ขนาดเศรษฐกิจของจีนจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่สหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศไทยที่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเปรียบเทียบลดต่ำลง จึงต้องหาจุดขายใหม่เพื่อเรียกการลงทุนจากต่างชาติ เริ่มจากสมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา และการผลักดันของพรรคภูมิใจไทยผ่านการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)สังกัด กระทรวงคมนาคมและนำเสนอจุดขายของโครงการแลนด์บริดจ์ ว่า จะเป็นการเชื่อมโยงกับข้อริเริ่ม Belt & Road Initiative หรือ ทางสายไหมของจีน และ อียู Global gateway ดังภาพความคาดหวังของโครงการแลนด์บริดจ์ที่เสนอในรายงานการศึกษาของ สนข. ตลอดจนคาดหมายว่าจะเกิดการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่หลากหลายประเภท
ภาพที่นายกรัฐมนตรีวาดเส้นชักชวนทุนจีนมาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์
ในยุครัฐบาลใหม่ หลังจาก ครม.เห็นชอบและรับทราบผลการศึกษาโครงการของ สนข. ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2566 วันถัดมานายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน นำโครงการเสนอขายนักลงทุนต่างชาติอย่างเร่งรีบ โดยวาดภาพบนกระดาษเพื่ออธิบายโครงการ โดยระบุการเปิดใช้ท่าเรือและแลนด์บริดจ์ในเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2573 (ในอีก 6 ปีข้างหน้า) ทั้งที่การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ยังไม่เสร็จสิ้น อีกทั้งโครงการไม่ได้มีการศึกษาความเหมาะสมและทางเลือกที่เรียกว่าการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA -Strategic Environmental Assessment
แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง :ในยุทธศาสตร์ GeoPolitics
ขณะที่การรัฐบาลไทยเสนอแลนด์บริดจ์เป็นสินค้าใหม่ของประเทศ ว่าเป็นเส้นทางเพื่อจะลดความคับคั่งของเรือในเส้นทางช่องแคบมะละกา ทั้งหวังการสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีปิโตรเลียมเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ข้อควรคำนึงถึงความเสี่ยง คือ จีนและซาอุดิอาระเบียที่รัฐบาลไทยคาดหวังให้มาลงทุน โดยเฉพาะจีนที่ไทยจะเชื่อมตัวเองเข้ากับเส้นทางสายไหมใหม่นั้น โดยข้อเท็จจริงและการดำเนินการของจีนที่ผ่านมา สะท้อนว่าจีนอาจมีมุมมองและมียุทธศาสตร์ต่อภูมิศาสตร์การเมืองในภูมิภาคต่างจากที่ไทยคาดหมาย อีกทั้งมีข้อสังเกตในการเดินสายเพื่อหาการลงทุนของไทย ที่ว่าผลการตอบรับจากทุนจีนและทุนตะวันออกกลาง ไม่เป็นดังที่รัฐบาลไทยคาดหวัง
ย้อนไปในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 จีนประกาศยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงาน ภายใต้สมุดปกขาวหัวข้อ การพัฒนาพลังงานของจีนในยุคสมัยใหม่ ในรูปแบบ '4การปฏิรูป + 1 ความร่วมมือ' ได้แก่
1) ปฏิรูปการบริโภคพลังงาน สู่สังคมประหยัดพลังงาน
2) ปฏิรูปอุปทานพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน
3) ปฏิรูปเทคโนโลยีพลังงานวิจัยขั้นพื้นฐานและยกระดับอุปกรณ์เครื่องจักรการ ผลิตพลังงาน
4) ปฏิรูประบบราคาพลังงาน ให้สอดคล้องกับกลไกตลาดยิ่งขึ้น
ส่วน 1 ความร่วมมือ ที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย คือ เป้าหมายสำคัญที่เป็นประเด็นภูมิศาสตร์การเมืองของจีน ที่ต้องการแก้ปมการถูกปิดล้อมสู่มหาสมุทรอินเดียและทะเลอาหรับ ด้วยการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านพลังงานระหว่างจีนกับประเทศตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) เงินส่วนใหญ่ของงบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ลงทุนเพื่อโครงสร้างภาคพลังงานและขนส่ง เช่น โรงไฟฟ้า ทางรถไฟ และ ทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่ปากีสถาน
การเลือกเส้นทางนี้เป็นผลมาจากมุมมองของจีนต่อสภาพการณ์ของเส้นทางขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาซึ่งอยู่ภายใต้ความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมือง ที่จีนมีโอกาสถูกปิดล้อมได้ง่ายจากมหาอำนาจทางทหาร คือ สหรัฐอเมริกาและอินเดีย ซึ่งควบคุมหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ ที่อยู่ตรงข้ามกับทะเลอันดามันฝั่งประเทศไทยตลอดแนวชายฝั่ง จีนจึงวางเส้นทางออกทะเลโดยระบบขนส่งทางบกและเชื่อมต่อออกทะเลที่ปากีสถานและให้น้ำหนักกับเส้นทางนี้อย่างมีนัยสำคัญ
ท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ ของปากีสถาน พัฒนาเสร็จและเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2561 สามารถรองรับสินค้ามากกว่าหนึ่งล้านตัน และจะกลายเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้ภายใน 5 ปี โดยมีเป้าหมายรองรับสินค้าได้ถึง 400 ล้านตันต่อปี ภายในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ. 2030)
โครงการพัฒนาท่าเรือกวาดาร์ เป็นส่วนหนึ่งของการต่อเชื่อมระหว่าง จีน-ปากีสถาน หรือ CPEC ที่ลงนามเมื่อ พ.ศ.2558 มูลค่าการลงทุน 46,000 ล้านดอลลาร์ ในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างถนน รางรถไฟ ท่อขนส่งน้ำมัน โรงไฟฟ้า และเขตอุตสาหกรรม เป็นโครงการพัฒนาหนึ่งในแกนหลักของ BRI นั่นคือ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor)
ท่าเรือกวาดาร์ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน ถัดจากช่องแคบฮอร์มุช ซึ่งอยู่ระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน ทำให้ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของท่าเรือแห่งนี้ตั้งอยู่บนจุดบรรจบกันของ 3 ภูมิภาคที่ทวีความสำคัญด้วยสามจุดแข็ง คือ ตะวันออกกลางที่อุดมไปด้วยน้ำมัน ทวีปเอเชียใต้ที่มีผู้คนหนาแน่น และเอเชียกลางที่อุดมด้วยแหล่งทรัพยากร ธรรมชาติ ดังนั้น ท่าเรือแห่งนี้จะเป็นจุดขนถ่ายสินค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของปากีสถาน และอัฟกานิสถาน รวมทั้งเอเชียกลาง จีนและประเทศตะวันออกกลาง
ท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้ช่วยส่งเสริมการค้ากับประเทศในอ่าวเปอร์เซียและจะเป็นจุดพักตู้คอนเทนเนอร์ในเส้นทางเดินเรือสินค้า เปิดประตูการพัฒนาสู่พื้นที่ตอนในของเอเซียกลางที่เคยถูกปิดกั้น และผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้า ที่ตั้งท่าเรือกวาดาร์อยู่ห่างจากพรมแดนอิหร่านมาทางตะวันออกราว 70 กิโลเมตร ใกล้เส้นทางเดินเรืออ่าวเปอร์เซีย และท่าเรือต่าง ๆ บนคาบสมุทรอาหรับ และท่าเรือปากีสถานจะเป็นคู่แข่งสำคัญกับท่าเรือน้ำลึกและแลนด์บริดจ์ของไทยที่จะแบ่งเรือคอนเทนเนอร์จากสิงคโปร์
กล่าวได้ว่าท่าเรือกวาดาร์เป็นการยึดหัวหาดของจีน เพื่อต่อท่อไปยังตะวันออกกลางแหล่งน้ำมัน และการสร้างถนนหนทางและทางรถไฟ เชื่อมไปถึงจีน ซึ่งเป็นโรงงานของโลก วิเคราะห์กันว่ารัฐบาลปักกิ่งต้องการใช้กวาดาร์เป็นท่าเรือด้านตะวันตกของตน เพราะระยะทางจากเมืองคาชการ์ (หรือกาสี) ที่อยู่ทางตะวันตกสุดของมณฑลปกครองตนเองของชนชาติอุยเกอร์ในซินเจียง ไปสู่ฝั่งทะเลทางตะวันออกของจีน มีระยะทางถึง 3,000 กิโลเมตร ในขณะที่ระยะทางจากซินเจียงไปท่าเรือกวาดาร์ เพียง 1,500 กิโลเมตร เท่านั้น
แหล่งข้อมูล
1.เอกสารประชาสัมพันธ์และเอกสารประชุมในพื้นที่โครงการ สนข
2.สหรัฐฯ กังวลจีนทุ่มเงิน 500 ล้านดอลลาร์ พัฒนาเมืองท่าเล็กๆ ในปากีสถาน,เวบไซด์ VOAThai.com
3.จีนลงทุนพัฒนา 'ท่าเรือกวาดาร์' ในปากีสถาน ให้เป็นท่าเรือยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในเอเชียใต้ เวบไซด์ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ .
4. China–Pakistan Economic Corridorg; website. https://en.wikipedia.org
Comentarios