ตอนที่ 2 จีนบาบ๋า
ชาวจีนที่มาบุกเบิกดินแดนชายฝั่งทะเลอันดามัน นอกเหนือจากชาวจีนอพยพแล้ว ยังมีกลุ่มที่เรียกว่า “บาบ๋า” ซึ่งเป็นที่มาของตึกแถวสวยๆ แบบชิโนโปรตุเกส ในภูเก็ต เป็นต้นตำรับอาหาร อย่างหมูฮ้อง หมี่ฮกเกี้ยน โอแอ๋ว โอต้าว ฯลฯ ความเป็นมาของจีนบาบ๋า สืบทอดกลับไปยาวนาน อย่างน้อยก็ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อครั้งที่ชาวดัตช์มาครอบครองช่องแคบมะละกาและท่าเรือในมณฑลฝูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) คราคร่ำด้วยเรือสินค้าทั้งจากตะวันออกและตะวันตก
เด็กชาวเปอรานากัน ราวปี 1900
ภาพจาก Leiden University Libraries Digital Collections
ดินแดนมลายู
นานนับพันปีมาแล้วที่นักเดินเรือรู้จักแหลมมลายู ที่เป็นทั้งศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศและเป็นที่พักเรือรอลมมรสุม ในยุคของเรือกำปั่น ที่การเดินสมุทรด้องอาศัยใบเรือและแรงลม
คาบสมุทรมลายู(มาเลเซียในปัจจุบัน) ตั้งอยู่ในแนวรับลมมรสุมทั้งสองทิศ คือลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ(ราวเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์/บางครั้งเรียกลมมรสุมฤดูหนาว)ที่พัดจากตะวันออกไปตะวันตก สำเภาจากฝั่งตะวันออก เช่น สำเภาจีนจากทะเลจีนใต้ จะอาศัยลมนี้เดินทางเข้ามา และจอดพักรอลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ราวเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนตุลาคม/ บางครั้งเรียกลมมรสุมฤดูฝน) ที่พัดจากตะวันตกไปตะวันออก พัดสำเภากลับบ้านในทางกลับกันนักค้าสำเภาจากฝั่งตะวันตก อาศัยลมนี้พัดเข้ามายังมลายู และพักรอให้ลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดใบเรือแล่นกลับไปทางตะวันตกอีกครั้ง
ภาพแผนที่จาก GoogleMap
ด้วยเหตุนี้ท่าเรือในเขตมลายูจึงมีการค้าตลอดทั้งปี เป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าจากฝั่งตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศ นอกจากนี้ทำเลของมลายูยังเป็นจุดกึ่งกลางเชื่อมระหว่าง อ่าวเบงกอลที่เป็นท่าเรือใหญ่ในมหาสมุทรอินเดีย กับทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ของจีน ผ่านทางช่องแคบมะละกา
ความสำคัญของมลายูและช่องแคบมะละกาทวีขึ้น ตามการเติบโตทางการค้าในภูมิภาคตะวันออก เดิมในสมัยอยุธยาตอนต้น(ราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 ) เมืองมลายูและมะละกาเป็นประเทศราชของไทย ต่อมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 มะละกาขยายอำนาจครอบครองแหลมมลายูทั้งหมด รวมถึงบางส่วนของเกาะสุมาตรา
ในเวลานั้นโปรตุเกสซึ่งเป็นชาติแรกในยุโรปที่ค้นพบความลับของกระแสลม เริ่มแผ่อิทธิพลมายังเอเชีย โดยมีเป้าหมายที่การผูกขาดการค้าเครื่องเทศ ซึ่งเป็นที่ต้องการในโลกตะวันตก
โปรตุเกสส่งกองเรือเข้ายึดมะละกาสำเร็จในปี 1511 และส่งฑูตมายังอยุธยาในปี 1519 รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐาธิราช) เพื่อเจรจาการค้าและขอเมืองมะละกา ไทยเห็นว่าเป็นเมืองห่างไกลและทอดทิ้งมานาน จึงรับไมตรียกมะละกาให้และเปิดการค้ากับโปรตุเกส
โปรตุเกสครอบครองมะละกาอยู่ 130 ปี ก่อนเสียให้ฮอลันดา ในศตวรรษที่ 17 ( ปี 1641) หลังจากฮอลันดาหรือดัตช์ เข้ามามีอิทธิพลในมะละกา ได้ขยายจากการทำการค้าไปยังการทำเหมืองแร่ดีบุกในคาบสมุทรมลายู เช่น ไทรบุรี เปรัค และรวมไปถึง อุยังสาลัง(ถลาง) ทำให้ต้องการแรงงานจำนวนมาก ดัตซ์จึงส่งสำเภาไปรับชาวจีนเข้ามาทำงาน และชาวจีนฮกเกี้ยนเป็นกลุ่มแรกที่อพยพมาหาโอกาสใหม่ๆ ในมะละกา
ชาวจีนลากรถ ในปีนังปี 1928
ภาพของThe Federal Rubber Stamp Co. (Penang-Ipoh-Kuala Lumpur-Singapore)
จาก Leiden University Libraries Digital Collections
เรื่องของชาวฮกเกี้ยน
ชาวฮกเกี้ยน หมายถึงกลุ่มชาวจีนที่อาศัยอยู่ในมณฑลฝูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ติดกับมณฑลกวางตุ้ง ตรงข้ามกับเกาะไต้หวัน (ชาวจีนส่วนใหญ่ในไต้หวัน จึงเป็นชาวฮกเกี้ยน) ชาวจีนกลุ่มนี้ใช้ภาษาของตนเองที่เรียกว่า ภาษาหมิ่น ทั้งนี้ คำว่า หมิ่น (闽) คือ ชื่อย่อของมณฑลฝูเจี้ยน
ฝูเจี้ยนอยู่ติดทะเล มีที่ดินทำกินน้อย ดังคำพรรณาถึงภูมิประเทศที่ว่า “ร้อยละ 80 เป็นเขาหิน ร้อยละ 10 เป็นสายน้ำ ที่เหลืออีกร้อยละ 10 จึงเป็นผืนดิน” การขาดแคลนที่ดินทำกิน ประกอบกับการอยู่ติดชายฝั่งและมีความสามารถในการเดินเรือ ชาวฮกเกี้ยนจึงเป็นกลุ่มแรกๆ ในจีนที่โยกย้านถิ่นฐานไปดินแดนใหม่ๆ รวมถึงสยาม
ชาวฮกเกี้ยนก็เป็นจีนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏว่า ปลายคริศศตวรรษที่ 15 รัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ (ค.ศ.1477) มีชาวจีนฮกเกี้ยนมาทำการค้า และได้บรรดาศักดิ์เป็นออกขุน
ชาวจีนกลุ่มแรกๆ ที่อพยพย้ายถิ่น เป็นกลุ่มที่ทำการค้า เคยชินกับการเดินทางไกล และพักอยู่ต่างถิ่นนานๆ บางครั้งแต่งงานกับคนท้องถิ่น จากนั้นก็จะดึงเครือญาติ รวมถึงคนในชุมชนเดียวกันมา
ทั้งนี้รูปแบบการอพยพของชาวจีน อาศัยสายสัมพันธ์กับคนที่ไปอยู่เดิม จะไม่ไปดินแดนที่ไม่รู้จัก โดยไม่มีเส้นสายอยู่ก่อน
ดังนั้นเมื่อที่ใดมีชาวจีนกลุ่มภาษาใดอยู่ ก็จะย่อมดึงชาวจีนในกลุ่มภาษานั้นให้อพยพเข้ามาดั้งหลักแหล่งในที่นั้นมากตามไปด้วย
เช่นในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีชาวจีนแต่จิ๋วอพยพเข้ามาจำนวนมาก ส่งผลให้ในระยะต่อมา จำนวนชาวจีนแต้จิ๋วในภาคกลางเพิ่มทวีขึ้น จนมากกว่าชาวจีนฮกเกี้ยนและกวางตุ้ง ที่อพยพมาก่อนหน้านั้น
ต่างจากบริเวณชายฝั่งอันดามัน ที่ชาวจีนกลุ่มหลักที่เข้ามาในช่วงแรก เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ที่มาจากแหลมมลายู ทั้งนี้ชาวฮกเกี้ยนเข้ามาทำการค้าบริเวณมลายู มะละกา ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 และหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นในศตวรรษที่ 17 เมือฮอลันดาส่งเรือไปขนแรงงานจีนเพื่อใช้ในกิจการทางการค้าและการทำเหมืองแร่ดีบุก
ครั้นถึงศตวรรษที่ 19 จีนประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง และความผันผวนของการเมืองปลายราชวงศ์ชิง การขยายอิทธิพลเข้ามาของตะวันตก ที่นำไปสู่สงครามฝิ่น ส่งผลให้ชาวฮกเกี้ยนที่มีสายสัมพันธ์อยู่ในมลายู พากันอพยพเข้ามา หาโอกาสทางการค้าในปีนังและสิงคโปร์ ที่เป็นเมืองท่าเสรี และตอบสนองต่อความต้องการแรงงาน ในเหมืองดีบุก ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามความต้องการแร่ชนิดนี้ในอุตสาหกรรมเคลือบสนิมเหล็ก
ในเวลาเดียวกันชาวจีนในมลายูที่อพยพมาก่อนหน้า รวมถึงกลุ่มลูกครึ่งจีนหรือเปอรานากัน ที่สะสมทุนจากการทำการค้าในปีนัง ก็แสวงหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ด้วยการเข้าไปลงทุนในกิจการเหมืองแร่ ในพื้นที่ตามแนวสายแร่ดีบุกชายฝั่งอันดามันของสยาม
จากเปอรานากันถึงบาบ๋า
ความเป็นเมืองท่าสำคัญและเป็นจุดแวะพักเรือของมลายู ทำให้ดินแดนนี้ มีผู้คนจากหลายชาติภาษาเข้ามาติดต่อค้าขาย และแวะพักเป็นเวลานาน บางคนก็ตั้งถิ่นฐานและแต่งงานกับคนท้องถิ่น ก่อกําเนิด “เปอรานากัน” ที่มีสายเลือดผสมระหว่างชนพื้นเมืองเดิมกับชาวต่างชาติ
คำว่า เปอรานากัน(Peranakans)ปรากฎใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แปลว่า “เกิดที่นี่” มีความหมายถึงเด็กลูกครึ่ง ที่เกิดในแหลมมลายูไปจนถึงเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ที่อยู่อีกฝั่งของช่องแคบมะละกา แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มชาวจีนเปอรานากัน (Peranakan Chinese) กลุ่มชาวอาหรับเปอรานากัน (Peranakan Arabs) กลุ่มชาวดัชต์เปอรานากัน(Peranakan Dutch) และกลุ่มชาวอินเดียเปอรานากัน (Peranakan Indians)
อย่างไรก็ตาม คนต่างถิ่นกลุ่มใหญ่ที่สุดในมลายู คือชาวจีน มีหลักฐานว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ที่ชาวฮกเกี้ยนเข้ามาค้าขาย ตั้งถิ่นฐาน แต่งงานกับคนท้องถิ่นมาลายู และให้ภรรยาเป็นผู้ดูแลกิจการ เมื่อต้องนำสินค้ากลับไปขายที่จีน จากความคุ้นเคยกับแหลมมลายู ชาวจีนก็อพยพตามกันมา มากบ้าง น้อยบ้างตามสถานการณ์ในประเทศจีน
ดังนั้นเด็กลูกครึ่งส่วนใหญ่ในมลายูจึงเป็นลูกครึ่งจีน ในที่สุดคำว่าเปอรานากันมีความหมายถึงลูกครึ่งจีน-มาลายู ที่ถือกำเนิดและอาศัยในแถบคาบสมุทรมลายู-อินโดนีเซีย อันได้แก่ มะละกา ปีนัง มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในปัจจุบัน
คนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า บาบ๋า(Baba)สำหรับผู้ชาย และย่าหยา/นนยา(Nyonya) สำหรับผู้หญิง
“บาบ๋า” เป็นคำที่มลายูยืมมาจากภาษาเปอร์เซีย หมายถึงการให้เกียรติ และคนในพื้นที่นำมาใช้เรียกเป็นการให้เกียรติชาวจีนเลือดผสมที่เป็นเพศชาย ส่วน “นนยา” เป็นภาษาชวาที่ยืมมาจากคำว่า “dona” ในภาษาดัชต์หมายถึงผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว
ในช่วงศตวรรษที่ 19 เริ่มเข้ายุคเรือกลไฟ อังกฤษขยายอำนาจเข้ามาแทนที่ชาวดัตช์ ตั้งอาณานิคมช่องแคบ(Straits Settlements) สร้างความเจริญให้เมืองท่าใหม่ที่ปีนังและสิงคโปร์ ชาวเปอรานากันอพยพเข้ามาในเขตท่าเรือของปีนังและสิงคโปร์ ประสบความสำเร็จทางการค้า สร้างฐานะจนบางส่วนได้เป็นคหบดี ชุมชนชาวเปอรานากัน ได้รับการขนานนามว่า “ช่องแคบจีน (Straits Chinese)”
วิถีเปอรานากัน
วัฒนธรรมเปอรานากันมีทั้งส่วนที่นำมาจากแผ่นดินจีนและสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ โดยผสมผสานกับ วัฒนธรรมมลายู กลายเป็นรูปแบบที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย อาหารการกิน ภาษา วิถีชีวิต ตลอดจนความเชื่อ ชาวเปอรานากันส่วนใหญ่นับถือลัทธิเต๋า ขงจื้อ และศาสนาพุทธ ส่วนศิลปเปอรานากัน ผสมผสานระหว่าง จีน มลายูและตะวันตก
บ้านคหบดีจีนในปีนัง ปี 1895
ภาพของ Kaulfuss, A.E.จาก Leiden University Libraries Digital Collections
ชาวเปอรานากันจะแต่งงานในกลุ่มตนเอง หรือแต่งกับชาวจีนที่อพยพมาใหม่ ทำให้สายเลือดมลายูจางลงเรื่อยๆ แต่ยังคงรักษาวัฒนธรรมแบบเปอรานากัน และในระยะหลังรับเอารูปแบบทางวัฒนธรรมของอังกฤษเข้ามาผสมผสาน
เมื่อชาวจีนและเปอรานากันในปีนัง เริ่มทำการค้า และขยายการลงทุนในกิจการเหมืองแร่ บริเวณชายฝั่งอันดามันของสยาม ปีนังกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนเหมืองแร่แถบนี้ กงสีและสมาคมชาวจีนที่เป็นเครือข่ายของเงินทุนและควบคุมแรงงานจีน มีศูนย์กลางอยู่ที่ปีนัง นอกจากนี้ชาวจีนส่วนใหญ่ในเวลานั้น อยู่ใต้บังคับอังกฤษ แม้มาแต่งงานกับชาวสยาม ก็ยังนิยมส่งลูกหลานไปเติบโต และศึกษาในปีนัง เพื่อที่จะได้เป็นคนในบังคับอังกฤษ ที่สำคัญการไปศึกษาที่ปีนัง ยังหมายถึงการรับถ่ายทอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ของชาวจีนเปอรานากันในปีนังอีกด้วย
แม้แต่ชาวจีนที่อพยพโยกย้ายเข้ามาใหม่ เพื่อมาทำงานในเหมืองแร่หรือทำการค้า ซึ่งมีที่มาจากหลากหลายมณฑล โดยจำนวนมากสุดมากจากฝูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) ที่เหลือมาจาก กวางตุ้ง ไหหลำ และจีนแคะ ก็ได้รับอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรมจากกลุ่มบาบ๋า ซึ่งลงหลักปักฐานในเมืองไทยอยู่ก่อน หลอมรวมกับวัฒนธรรมเดิมของตน เป็นวิถีชีวิตในดินแดนใหม่
อย่างไรก็ตามเปอรานากันในสยาม ก็แตกต่างออกไปจากเปอรานากันในมลายู เนื่องด้วยการผสมผสานกับวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองในฝั่งอันดามันของไทย และคำว่า "เปอรานากัน" ก็ไม่ได้เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกลูกครึ่งจีนในเมืองไทย แต่จะเรียกว่า “บาบ๋า” (สำเนียงภูเก็ต เรียก บ๊าบา/บ้าบ๋า)ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ส่วนคำว่า ย่าหยา ใช้เรียกเครื่องแต่งกายแบบเปอรานากันของผู้หญิง ว่า เสื้อย่าหยา
ในขณะที่ ชาวเปอรานากันในมาลายูใช้ภาษามาลายูบาบ๋า มีการยืมคำจากภาษาฮกเกี้ยนและภาษาตะวันตก บาบ๋าในประเทศไทยใช้ภาษาถิ่นใต้ ปนกับศัพท์มาลายู ฮกเกี้ยนและอังกฤษ นอกจากนี้วัฒนธรรม เปอรานากันอื่นๆ เช่น อาหาร การแต่งกาย ก็ค่อยๆ แตกต่างออกไปตามกาลเวลา
แม้จะมีข้อแตกต่าง แต่กล่าวได้ว่า ในยุคต้น จุดอ้างอิงทางวัฒนธรรมของชาวจีนในเมืองชายฝั่งอันดามัน ไม่ใช่จีนแผ่นดินใหญ่ แต่เป็นเปอรานากันใน ‘ปีนัง’ ที่เป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมบาบ๋าในเมืองไทย
ไม่ว่าจะเป็นภาษา อาหาร เครื่องแต่งกาย ประเพณีปฏิบัติ ที่ปรากฎให้เห็นจนถึงเวลานี้ อาทิ รูปแบบของอาหารที่ต่างจาก ภาคใต้ฝั่งตะวันออก การแต่งกายของผู้หญิง ที่เป็นเสื้อลูกไม้กับผ้าปาเต๊ะ
รวมถึงส่วนที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากศตวรรษก่อน คือเหล่าหมู่ตึกที่เห็นในแถบเมืองเก่าภูเก็ต ตลอดจนตึกฝรั่งแบบชิโนโปรตุเกสของคหบดีภูเก็ต สร้างขึ้นตามรูปแบบจากปีนัง และส่วนใหญ่สร้างโดยช่างจากปีนัง เครื่องเรือนต่างๆ ก็ล้วนแล้วมาจากปีนัง หากสืบถามประวัติจะพบว่า ลูกๆ เจ้าของตึกเรียนจบจากปีนัง และในหลายกรณีแต่งงานกับเจ้าสาวจากปีนัง
Comentarios