top of page
Writer's pictureclassyuth

PM2.5 : การเมืองของฝุ่น


นับถอยหลังสู่วิกฤตฝุ่น นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชี้ภาวะโลกร้อนทำให้ปัญหาฝุ่นรุนแรง

และซับซ้อนขึ้น ส่วนมาตรการรัฐขาดประสิทธิผล และผลักภาระให้กับประชาชนมากเกินไป ทำให้ปัญหาฝุ่นเป็นการเมืองของการต่อรองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ ขณะที่หน่วยงานรัฐ ยังมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน


“ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นฝุ่นPM 2.5 ของกรุงเทพไม่ได้สูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา แต่ระยะเวลาที่ค่าสูงเกินมาตรฐานนานขึ้นและทำนายได้ยากขึ้น เนื่องจากความแปรปรวน ของภูมิอากาศ ที่ทำให้ฤดูกาลเปลี่ยน และสภาพอากาศมีลักษณะสุดขั้ว หนาวจัด ร้อนจัด เกิดพายุได้มาก เวลาอากาศนิ่งก็นิ่งนาน แบบที่ทำให้เราเจอวิกฤตฝุ่นนานเป็นเดือน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา” ดร. สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดี คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ สรุปข้อมูลจากสถานีวิจัยเพื่อตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน และคุณภาพอากาศ KU TOWER ซึ่งทำงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557

“ผมไม่เชื่อว่าเราจะลดการปลดปล่อยมลพิษได้แบบหน้ามือเป็นหลังมือ ถึงรถไฟฟ้า จะเสร็จ และเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ผมไม่คิดว่า ฝุ่นจะลดลงมากๆ หรือหายไป เพราะเทคโนโลยีมีจุดบกพร่องเสมอ”


ฝุ่นสร้างฝุ่น

“สถานการณ์ PM 2.5 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากการเผา ไม่ว่าจะเป็น เผาเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือวัสดุการเกษตร นอกจากทำให้เกิด PM2.5 แล้ว ยังมีก๊าซต่างๆ เกิดขึ้นด้วย เมื่อก๊าซเหล่านี้ทำปฏิกิริยากับแสงแดด จะเปลี่ยนเป็นโอโซน และสะสม จนกลายเป็นชั้นอากาศผกผัน (Inversion Layer)ในระดับต่ำ ที่เป็นเหมือนฝาชีอากาศกักฝุ่นไว้ ทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นเพิ่มขึ้น ” ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานกรรมการ จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สรุปข้อค้นพบสำคัญจากการศึกษาปัญหามลพิษทางอากาศ ร่วมกับนักวิชาการญี่ปุ่น จาก JAMSTEC : Japan Agency for Marine-Earth Science and Technology

“ชั้นอากาศผกผันที่เกิดจากมลพิษทางอากาศนี้ เกิดได้ง่ายและบ่อย โดยเฉพาะ ช่วงที่มีอากาศนิ่งอยู่นานๆ เช่น ช่วงปลายฤดูหนาวต่อฤดูร้อน” ส่งผลให้วิกฤต PM2.5 เกิดได้ง่ายขึ้นและบ่อยขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ ชั้นอากาศผกผัน (Inversion Layer) เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความกดอากาศสูง การคายความร้อนของเมือง ฯลฯ ยิ่งเกิดขึ้นในระดับต่ำ ความเข้มข้นของฝุ่นก็จะยิ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ ชั้นอากาศผกผันสามารถเกิดได้มากกว่าหนึ่งชั้น จากหลายปัจจัยร่วมกัน ทำให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น เช่น เดือนมกราคม ที่ผ่านมา บางพื้นที่ของกรุงเทพ ค่า PM2.5 สูงกว่ามาตรฐานถึง 300%

“ความกดอากาศสูง ประกอบกับชั้นโดมความร้อนของเมือง ที่เกิดจากการคายความร้อน ของสิ่งก่อสร้างในช่วงกลางคืน ทำให้เกิดฝาชีอากาศผกผันคู่(Dual Inversion layer) โดยชั้นอากาศผกผันระดับล่าง อยู่ที่ราว 400 เมตรจากพื้นดิน ส่งผลให้ยิ่งสูงฝุ่นยิ่งเข้มข้น โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน เป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่อาศัยในตึกสูง”

อย่างไรก็ตาม ดร.ธนวัฒน์ ย้ำว่า ลักษณะอากาศเป็นปัจจัยเสริม “สาเหตุหลักคือ การปล่อยมลพิษ ซึ่งต้องจัดการปัญหาที่ตัวต้นกำเนิดมลพิษ” และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ร้อยละ 90 มาจาก 1) ฝุ่นจากรถยนต์ทุกประเภทที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 2) ฝุ่นจากการเผาวัสดุชีวมวล 3) ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 4) ฝุ่นจากการก่อสร้าง และ 5) ฝุ่นจากดินและถนน ส่วนที่มาอื่นๆ รวมทั้งฝุ่นข้ามพรมแดนมีไม่เกินร้อยละ 10

แต่จนถึงเวลานี้ ที่วิกฤตฝุ่นประจำปีกำลังใกล้เข้ามา มาตรการสำคัญๆ ที่ช่วยลดมลพิษ จากแหล่งกำเนิด ยังไม่คืบหน้า ไม่ว่าจะเป็น การปรับค่ามาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง หรือการปรับค่ามาตรความเข้มข้นของ PM 2.5 ในบรรยากาศ

คำถามจากผู้ประกอบการก็คือ มาตรการเหล่านี้คุ้มค่าเพียงไร



ต้นทุนของสังคม


“มูลค่าต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จาก PM 10 ของกรุงเทพฯ สูงถึง 446,023 ล้านบาท/ปี ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลของ PM 2.5 แต่เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สูงกว่า PM 10 ดังนั้นต้วเลขต้นทุนของสังคมอันเนื่องมาจากฝุ่น PM 2.5 ต้องสูงกว่านี้” ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปจากการวิจัยต้นทุนของสังคมไทยจากมลพิษทางอากาศ และแนวทางแก้ไข

รายงานของกรมควบคุมมลพิษ สรุปผลการศึกษา ของ Shi Y, et.al ซึ่งใช้ข้อมูล ความเข้มข้น PM2.5 จากดาวเทียมความละเอียดสูง เพื่อคาดคะเนการเสียชีวิต วัยอันควรเนื่องจาก PM2.5 ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างปี พ.ศ. 2542(1999) ถึง 2557(2014) รวม15 ปี พบจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เฉลี่ยปีละ 1.4 ล้านคนเศษ สาเหตุหลักคือ โรคหัวใจล้มเหลวและโรคหลอดเลือดหัวใจ ผลการศึกษานี้ ชี้ว่า ควรมีการควบคุมระดับฝุ่น PM2.5 อย่างเร่งด่วน

“สิ่งแวดล้อม อย่างเช่น อากาศ ไม่มีตลาด จึงไม่มีราคา ทำให้คนไม่เห็นคุณค่า การศึกษาเพื่อประเมินมูลค่า แสดงให้เห็นความคุ้มค่าที่รัฐจะลงทุน เพื่อลดมลพิษทางอากาศ

แต่รัฐจะลงทุนหรือไม่อย่างไรนั้นขึ้นกับการตีความเรื่องฝุ่นของรัฐ มองว่ารุนแรงไหม” ดร.วิษณุ สรุปและชี้ว่ามาตรการของภาครัฐยังขาดข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน


การควบคุมและบังคับ

“มาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศหลายๆ มาตรการ รัฐใช้การบังคับ (Command and control) เช่น ห้ามเผาในที่โล่ง การบังคับใช้มาตรฐานไอเสียและน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในมุมมอง ทางเศรษฐศาสตร์ เราไม่ค่อยชอบการบังคับ เพราะแต่ละคนมีต้นทุน ในการปฎิบัติตามข้อบังคับ ต่างกัน” ดร.วิษณุ วิเคราะห์สาเหตุที่มาตรการรัฐล่าช้า และขาดประสิทธิผล

“การบังคับมีข้อเสีย เช่น ความล่าช้าของการบังคับใช้มาตรฐานน้ำเชื้อเพลิงยูโร 5 เกิดจากเอกชนไม่อยากปฏิบัติตาม เนื่องจากมีต้นทุนจากการเปลี่ยนระบบการผลิต”

นอกจากนี้รัฐไม่มีทรัพยากรและบุคคลกรมากพอในการควบคุม ส่งผลให้เกิดปัญหา การละเมิดข้อบังคับ เช่น รถควันดำยังคงออกมาวิ่งบนท้องถนน และการเผาของเหลือทิ้ง ทางการเกษตรไม่ได้ลดลง ล่าสุดอัตราอ้อยถูกเผายังคงอยู่ที่ร้อยละ 66 ของอ้อยที่เข้าโรงงาน ทั้งหมด

“รัฐจะต้องใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ให้มากขึ้น สร้างแรงจูงใจแทนการบังคับ เช่น การใช้มาตรการภาษีกับรถเก่า สร้างตลาดให้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นต้น”

นอกเหนือจากนี้ ดร.วิษณุ ชี้ว่าการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ จำเป็นต้องลงถึง รากฐานของปัญหาคือ “การพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับ สิ่งแวดล้อมน้อยเกินไป ส่งผลต่อความเสีื่อมโทรมของทรัพยากรและก่อมลพิษ”

“เทคโนโลยี มีจุดบกพร่องเสมอ และจุดบกพร่องนั้นส่วนใหญ่มาจากคน ปัญหายากจะคลี่คลาย หากกรอบคิดคนไม่เปลี่ยน ยังอยู่บนเส้นทางการพัฒนาที่ขาดสมดุล” คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นในทำนองเดียวกัน ต่อมาตรการรัฐ ที่มองว่า รถยนต์คือที่มาหลักของฝุ่น สามารถแก้ปัญหาได้ โดยการเปลี่ยนเทคโนโลยี และปล่อยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประชากร รถ และการใช้น้ำมัน เติบโตต่อไป


การเติบโตของเมืองกับมลพิษทางอากาศ

“ฝุ่นทั้งจากรถยนต์ การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และอสังหาริมทรัพย์ ล้วนแล้วแต่มีมาจากการพัฒนาสู่ความเป็นเมือง เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ” รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย นโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ประเด็น

ข้อมูลจาก ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ การขนส่งและจราจร พบว่า ประชากรของกรุงเทพและปริมณฑล ที่มีอยู่ราว 16.430 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรรวมของประเทศ เดินทางไปมา ในกรุงเทพและปริมณฑล รวม 32.65 ล้านเที่ยวต่อวัน โดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ร้อยละ 39.9 และมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวร้อยละ 23.8 รวมสองประเภทคิดเป็นร้อยละ 63.7 ขณะที่ตัวเลขใช้บริการขนส่งสาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 29.5

ส่วนปริมาณรถทุกประเภทสะสม(ไม่รวมรถเมล์และรถบรรทุก)กันยายน 2562 อยู่ที่ 10.6 ล้านคัน เพิ่มจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วราว 4 ล้านคัน( รถสะสมปี 2552จำนวน 6.1 ล้านคัน)


ภาครัฐยังไม่มีนโยบายจำกัดจำนวนรถ ตรงกันข้ามกลับมีแผนการเพิ่มทางด่วน และถนนในกรุงเทพ เพื่อแก้ปัญหาจรจรติดขัด รวมระยะทาง 1,047 กิโลเมตร ภายในปี 2572

ปล่อยให้การปรับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงและเครื่องยนต์เป็นการเมืองการต่อรองของผู้ประกอบการรถยนต์และน้ำมัน กับความพยายามของนักสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่ต้องการ เพิ่มมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง


ผลประโยชน์ทับซ้อน

“หน่วยงานรัฐ อยู่ตรงกลางระหว่างผู้ก่อมลพิษหรือภาคธุรกิจ และผู้ได้รับผลกระทบ หรือภาคสังคม ต้องตอบโจทย์ทั้งสองฝ่าย โดยมีประโยชน์ของประเทศที่ต้องคำนึงถึง”

“ปัญหาสำคัญของหน่วยงานรัฐ คือเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างกระทรวง อุตสาหกรรม เป้าหมายหลักคือส่งเสริมอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็มีอำนาจ ในการควบคุมมลพิษด้วย ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่างเป้าหมายหลักกับ เป้าหมายรอง ขึ้นกับจะให้น้ำหนักไปทางด้านไหน เช่นเดียวกับอีกหลายหน่วยงาน ที่มีปัญหาทำนองนี้” ดร. สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงความขัดแย้ง ในการทำงานของหน่วยงานราชการ

ทั้งนี้เป็นผลพวงจากการพัฒนา ซึ่งเดิมหน่วยงานรัฐจะทำหน้าที่หลักในการส่งเสริม การพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในเวลานี้หน่วยงานรัฐเผชิญกับเรียกร้องใหม่ๆ ในมิติสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตามความชัดเจนของผลกระทบจากการพัฒนา

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เสนอให้จัดตั้งองค์กรเฉพาะด้าน สิ่งแวดล้อม ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและมีกฎหมายรองรับ

ในประเด็นนี้ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมพิษ ให้ความเห็นจากประสบการณ์ว่า “ถ้าจะให้มีองค์กรที่ดูแลสิ่งแวดล้อมทุกมิติ ต้องปรับทั้งกฎหมายและโครงสร้างการบริหาร ราชการแผ่นดิน ในบริบทของเมืองไทยการที่จะไปรวบทุกอย่างมาไว้ จากประสบการณ์ ที่ผ่านมาพบว่า ทำไม่ได้”

“ตอนปฎิรูประบบราชการปี พ.ศ. 2545 ที่พยายามดึงงานด้านสิ่งแวดล้อม จากหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้มาพอสมควร เพื่อลดความทับซ้อน ส่วนหนึ่งของกรมอนามัย หายไป มาอยู่กรมควบคุมมลพิษ ตอนนั้นแทบเป็นแทบตาย”


“สิ่งที่ทำได้ ก็คือ การปรับเปลี่ยนในส่วนของผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อสร้างความสมดุล เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมให้ใบอนุญาตก่อสร้างและเปิดโรงงาน แต่ใบอนุญาตการระบาย มลพิษ ก็ให้กรมควบคุมมลพิษดูแล เป็นต้น เพื่อให้การอนุญาตตั้งโรงงานนั้นๆ มีหน่วยงาน ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ร่วมดูแล ซึ่งลักษณะนี้ สามารถปรับแก้ได้ ใน พรบ.สิ่งแวดล้อม” อดีตผู้บริหารหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม แสดงความคิดเห็น และว่า

“สุดท้ายแม้จะไม่มีการปรับโครงสร้าง แต่ถ้ารัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน หน่วยงานต่างๆ ก็ต้องปฏิบัติตามอยู่ดี ขึ้นอยู่กับ Political Will ของฝ่ายนโยบาย ”

ปัญหาคือ ยังไม่มีรัฐบาลไหนให้ความสำคัญกับนโยบายสิ่งแวดล้อม เป็นลำดับต้นๆ หรือเท่าเทียมกับการส่งเสริมเศรษฐกิจ



โครงสร้างแบบรวมศูนย์

“ค่าฝุ่น PM 2.5 ของไทยติดตัวแดงมานาน เพียงแต่ไม่กระทบกรุงเทพ เชียงใหม่เจอปัญหาฝุ่นมาเป็น 10 ปี มาปีนี้กรุงเทพได้รับผลกระทบหนัก ทำให้รัฐบาล ต้องเร่งแก้ปัญหา รวมถึงประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ” ชล บุนนาค อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์ สะท้อนปัญหาจากมุมมอง โครงสร้างทางการเมือง

“ในแง่นโยบายสาธารณะ การที่ภาครัฐตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไร ถือเป็นปฏิบัติ การของภาครัฐเหมือนกัน การให้ความสำคัญกับกรุงเทพ สัมพันธ์กับการรวมศูนย์อำนาจ อยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้บางพื้นที่ถูกให้น้ำหนักน้อยกว่า

ถ้าหากโครงสร้างการเมืองเป็นแบบกระจายอำนาจ คนในพื้นที่เขาอยากมีชีวิตที่ดี ย่อมกระตือรือล้นกว่าในการแก้ปัญหา ไม่ต้องรอส่วนกลาง ที่มีวาระของตนเอง ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับผลประโยชน์ของท้องถิ่น เช่น การไม่ประกาศเขตภัยพิบัติ ในกรณีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในภาคเหนือ เพราะเกรงกระทบการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประเทศ”

ที่สำคัญ การบริหารงานของภาครัฐ ยังมีลักษณะของการแบ่งการทำงานตามหน้าที่ ของแต่ละหน่วยงานหรือแต่ละพื้นที่ มากกว่าการทำงานร่วมกัน เช่นเกียวกับการจัดสรร งบประมาณ ทำให้ไม่สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา ในขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพื้นที่หรือหน่วยงานเดียว

“ ระบบราชการไทยต้องการป้องกันการคอร์รัปชั่นแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าทำได้ก็ดี แต่คำถามคือ คุ้มค่าไหม เช่น อบต.ลุ่มน้ำเดียวกันแชร์ทรัพยากร เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันไม่ได้

“ผมเห็นด้วยกับการจัดการคอร์รัปชั่น แต่ไม่เห็นด้วยกับการจัดการเกินพอดี ในทางเศรษฐศาสตร์เราจะมองว่า การเพิ่มระดับการจัดการคอร์รัปชั่นกับประโยชน์ที่ได้ คุ้มกันหรือไม่ ต้องดูว่าระดับที่คุ้มค่าอยู่ตรงไหน”

นอกจากนี้ การทำงานภายใต้โครงสร้างที่แยกส่วน ยังส่งผลกระทบต่อความรู้ ความเข้าใจในระดับปัจเจก ของเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย

“หน่วยงานราชการไทยมีความรู้ลึกซึ้งมากในงานที่ทำ แต่ไม่ค่อยกว้าง ในขณะที่ปัญหา สิ่งแวดล้อมมีความซับซ้อน ด้วยหลายเหตุปัจจัยที่ปฏิสัมพันธ์กัน ต้องการความรู้ในการจัดการ แบบสหสาขาวิชา”

ทั้งนี้ ชล ในฐานะหัวหน้าโครงการ ประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนา ที่ยั่งยืน มองว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals :SCGs) จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเปลี่ยนแปลง



แรงผลักดันจากภายนอก


SDGsจัดทำขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ และประเทศไทยร่วมลงนามกับอีก 192 ประเทศที่จะนำมาปฏิบัติ

“ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบที่ไทยต้องทำตามสัญญา ทำให้หน่วยต่างๆ ของภาครัฐ ต้องนำ SDGs มาใช้ในการพิจารณางานของตนเอง” ชล อธิบาย

ทั้งนี้เป้าหมายของ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ไม่ได้แยกจากกัน แต่เชื่อมโยงและ ต้องดำเนินไปพร้อมกัน “ทำให้หน่วยงานราชการ ซึ่งมีความชำนาญเฉพาะด้าน เริ่มต้นที่จะเรียนรู้การทำงานแบบบูรณาการ สร้างมุมมองที่กว้างขึ้น ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย”

“นอกจากนี้ ตัวชี้วัดความสำเร็จของ SDGs ช่วยในแง่ที่ว่า เดิมระบบราชการของเรา มีการประเมินเฉพาะผลลัพธ์(Out put) ไม่มีการวัดผลสัมฤทธิ์(Out Come) แค่ทำตามงบประมาณก็จบ ไม่ต้องดูว่าทำแล้วมี Impact ไหม จึงเป็นอีกศักยภาพ ของSDGs ที่ทำให้มีการประเมินนโยบายรัฐอย่างเป็นระบบ”


ทางด้านหน่วยงานรัฐ จินางค์กูร โรจนนันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบาย และแผนงาน ทรงคุณวุฒิ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561- 2580) อยู่ภายใต้กรอบ SDGs ทั้งหมด ส่วนแผน 12 ซึ่งจัดทำให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ก็อิงกับกรอบ SDGs เช่นกัน”

“ทั้งนี้ในส่วนของการแปลงจากแผนไปสู่การปฏิบัติ ทั้งในระดับกระทรวง กรม รวมถึงระดับพื้นที่ ยังมีช่องว่าง ซึ่งการจัดทำแผนระดับชาติ ก็พยายามสร้างกลไกใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหา เช่น การจัดสรรงบประมาณในเชิงบูรณาการ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน ภายใต้ประเด็นเดียวกัน หรือพื้นที่เดียวกัน”

งบประมาณแบบบูรณาการ เปลี่ยนแปลงการทำงานของหน่วยงานรัฐ จากหลักการ แบ่งงานกันทำ มาเป็นร่วมทำงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทำให้การใช้จ่ายไม่ซ้ำซ้อนและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความสมดุล ระหว่างความต้องการในระดับพื้นที่ (Bottom –Up)และทิศทางในภาพรวมของระดับประเทศ

(Top Down) โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ

ทั้งหมดทำให้การทำงานของหน่วยงานรัฐค่อยๆ เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม ชลมองว่า “การเปลี่ยนตาม SDGs ของหน่วยงานรัฐช้ามาก เมื่อเทียบกับภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม”


จิตสำนึกและกลไกปรับพฤติกรรม

ในการแก้ปัญหา PM 2.5 จิตสำนึกและความรับผิดชอบของคนในสังคม เป็นประเด็นหนึ่ง ที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมา รวมทั้งจากรัฐบาล ในเรื่องนี้ ชล ให้ความเห็นว่า การสร้างจิตสำนึกต้องสัมพันธ์กับการปรับโครงสร้างของสังคม “การสร้างจิตสำนึกไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น จิตสำนึกคือ การที่คนเอากฎ กติกามาใส่ไว้ในใจ เป็น internal rule แล้วปฎิบัติตาม ประเด็นคือ ถ้าสิ่งที่อยู่ในใจไม่ไปด้วยกันกับสภาพแวดล้อม ภายนอก เขาจะยืนหยัดได้นานแค่ไหน”

“ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องมีกฎ กติกา และเงื่อนไขทางกายภาพสนับสนุน ทำให้พฤติกรรมที่นำไปสู่ความยั่งยืน ทำได้ง่ายกว่า สะดวกกว่าแบบไม่ยั่งยืน อย่างใน เนเธอร์แลนด์ คนใช้รถสาธารณะเพราะสะดวกกว่า เขาอาจจะมีหรือไม่มีสำนึกเรื่อง สิ่งแวดล้อมก็ได้”

“รัฐบาลในทุกยุคสมัยที่ผ่านมา โยนภาระเรื่องสิ่งแวดล้อมให้คนธรรมดามากเกินไป ทำให้เป็นเรื่องจิตสำนึก เป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล แต่สภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็น กฎ กติกา โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้ออำนวยไม่มี”

ดังนั้นการที่รัฐเรียกร้องให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา จึงไม่ประสบความสำเร็จ เช่น การใช้รถสาธารณะก็เป็นไปไม่ได้ ตราบเท่าที่การเดินทาง โดยรถส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ถูกกว่าและสะดวกกว่า


ทางด้าน รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบาย ด้านเศรษฐกิจสีเขียว เสนอว่า รัฐสามารถใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ สร้างความตระหนัก ถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในสังคม โดยการเก็บเงินจากกิจกรรม ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจจะในรูปแบบภาษี หรืออื่นๆ เช่น เก็บค่าถุงพลาสติกใส่สินค้า

“ถ้าไม่มีกลไกผลักดัน คนเราไม่เปลี่ยนพฤติกรรม อาศัยความตระหนัก ลุกขึ้นทำดี ก็มีไม่กี่คนที่ลุกขึ้นทำด้วยแรงที่ตัวเองมี คนส่วนใหญ่คิดถึงเรื่องเฉพาะหน้า ต้องทำมาหากิน ชาวนาก็ต้องเผาซังข้าว เพราะจ่ายน้อยกว่ากลบไถ ถ้าจะไม่ให้เขาเผา คนกินข้าว ก็ต้องเอาเงินมาสนับสนุน หรือยอมจ่ายค่าข้าวแพงขึ้น”

“ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบในวงกว้าง และไม่มีคนรับผิดชอบ การใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ ทำให้เห็นกระบวนการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษที่เกิดขึ้น ทั้งกระบวนการ เช่น การเผาในภาคเกษตร ที่มีผู้เกี่ยวข้องทั้ง ชาวนา โรงงาน โรงสี ผู้บริโภค ที่ต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบ

ทั้งนี้ ดร.นิรมล เน้นว่า “ความสำเร็จอยู่ที่ ภาษีหรือเงินที่เก็บจะต้องสะท้อนปัญหา รัฐต้องนำไปใช้จ่ายในการจัดการสิ่งแวดล้อม ให้คนเห็นผล เช่น เก็บภาษีจากคนกินข้าว เพื่อเอาไปอุดหนุนเกษตรกรให้ไถกลบซังข้าวแทนการเผา ก็ต้องบอกว่า ลดปัญหาควัน ได้เท่าไร ”

บนหลักการนี้ กลไกทางเศรษฐศาสตร์ จะช่วยให้คนในสังคมได้ตระหนักว่า การใช้ชีวิตที่เป็นอยู่มีต้นทุนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



การศึกษาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง


“ช่วงที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น เรากำลังเรียนเรื่องขยะ ก็ปรับเอาเรื่องฝุ่นเข้ามาด้วย ให้เด็กๆ ช่วยกันคิดว่า จะจัดการขยะในบ้านได้อย่างไร เขาก็คิดกันมาหลายวิธี รวมทั้งการเผา ก็ลองเผากองเล็กๆ แล้วเอาเครื่องวัดค่าPM 2.5 ไปวัด เขาก็เห็นว่า ค่าสูงขึ้นมาชัดเจน ก็ให้คิดต่อว่า ถ้าไม่เผา จะทำอย่างไรได้บ้าง ฝังก็ไม่ได้ ไม่ย่อยสลาย เป็นพิษต่อดิน ไปทางไหนก็ไม่ดี ทุกวิธีสร้างปัญหา สุดท้ายเขาก็สรุปได้เองว่า ทางที่ดีที่สุดก็คือ ลดการใช้ลง” มิรา ชัยมหาวงศ์ เล่าประสบการณ์ สร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก จากการรวมกลุ่มพ่อแม่ จัดการศึกษาให้ลูกด้วยตัวเอง(Homeschool)

“ในการเรียนรู้เราไม่ได้ให้คำตอบ เราต้องทำให้เขาเห็นจริง เช่น เขาได้เห็นว่าปลายทาง ของข้าวของที่เขาใช้ไปไหน หรือให้ค้นคว้าว่า ฝุ่นมาจากไหนได้บ้าง ทำให้เกิดความตระหนัก ถึงปัญหา เขาก็ปรับพฤติกรรมจากจุดที่เขาทำได้ เช่น เดินทางด้วยรถไฟฟ้า เวลาซื้อน้ำ บอกล่วงหน้าว่าไม่เอาหลอด”

ภายใต้กระบวนการเรียนรู้ เด็กยุคใหม่ตระหนักถึง ต้นทุนในการใช้ชีวิตของเขา ซึ่งสอดคล้องกับทัศนะของนักวิชาการด้านโลกร้อน รศ.ดร. อำนาจ ชิดไธสง อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย พระจอมเกล้าธนบุรี ที่ให้ความเห็นว่า ปัญหาโลกร้อน หรือปัญหาฝุ่น มีเงื่อนไขไม่ต่างกัน คือ คนในสังคมรวมถึงผู้นำซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ต้องตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ก่อนที่เราจะไม่มีโอกาส

“คนแค่ให้ตระหนักรู้ว่า อะไรควรทำ ส่วนรัฐก็สนับสนุนให้คนทำได้ เงื่อนไขสำคัญ คือ การเมืองซึ่งเป็นเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์ ถ้าจะแก้ได้ต้องกลับมาที่พื้นฐาน คือจริยธรรม ศีลธรรมของคน คนต้องมีคุณภาพในแง่ของจิตใจ จึงจะคิดได้ ไม่มองเฉพาะผลประโยชน์ ของตนเอง

ส่วนเรื่องมาตรการในการแก้ไข นักวิทยาศาสตร์มีข้อมูล มีวิธีการให้หมด เหลือแต่คนทำ เราไม่ได้ขาดมาตรการ แต่เรายังลงมือทำไม่มากพอเท่านั้นเอง

ผมอาจจะมองโลกในแง่ร้ายนะ แต่ผมคิดว่ายากที่คนจะคิดได้ ต้องรอให้เกิดวิกฤตก่อน ถึงตอนนั้นคนจึงจะเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่แน่..อาจจะไม่เปลี่ยนก็ได้ ถ้าเขาคิดจะย้ายไปอยู่ ดาวอังคาร”


หมายเหตุ:สนับสนุนโดย




8 views0 comments

Comments


bottom of page