top of page
Writer's pictureclassyuth

สายสัมพันธ์จีนฮกเกียน : กำเนิดเมืองเหมืองแร่ชายฝั่งอันดามัน

Updated: Apr 29

3) ความฝันและความหวังกลางทะเลลึก ตอนที่ 1


"อย่าพิงราวระเบียงเหม่อมองไปข้างหน้าคนเดียวเลย

มีแต่จะทำให้หวนคิดถึงแผ่นดินไพศาลที่จากมา

โอ้ ยามต้องพลัดพรากช่างง่ายดายนัก

ครั้นอยากหวนไปเห็นมาตุภูมิสักครั้งช่างแสนยาก..."

บทกวีของหลี่อี้


บ้านชาวจีนในแถบช่องแคบมะละกา ภาพจาก https://bernitone.wordpress.com



นับจากศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 แรงกดดันทางเศรษฐกิจการเมืองปลายราชวงศ์ชิง ภัยพิบัติและสงครามที่เกิดขึ้นไม่ขาดสาย ผลัดดันให้ชาวจีนละทิ้งแผ่นดินแม่ ไหลไปตามแรงดึงดูดของแผ่นดินใหม่และเครือข่ายสายสัมพันธ์


ชาวฮกเกี้ยนนับล้าน หลั่งไหลเข้ามายังแหลมมลายู และชายฝั่งอันดามันในยุคตื่นดีบุก ขณะเดียวกับที่ ชาวแต้จิ๋วหลายแสนคนเข้าสู่ตอนกลางของสยาม และชาวกวางตุ้งจำนวนมากไหลไปแคลิฟอเนีย ซึ่งอยู่ในยุคตื่นทอง


สำหรับชาวฮกเกี้ยน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรือหัวเขียวพากันแล่นมายัง 'หนานหยาง' แต่เป็นการเดินตามเส้นทางที่บุกเบิกไว้ ของชาวฮกเกี้ยนรุ่นก่อนหน้า ที่พากันหนีตาย ยอมทิ้งแผ่นดินเกิดอย่างไม่อาจหวนคืน

เรื่องราวแต่หนหลัง


กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวหนี่เจิน(แมนจู) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ บุกลงมาตอนล่าง ล้มล้างราชวงศ์หมิงของชาวฮั่น ก่อตั้งราชวงศ์ชิงขึ้นในปี ค.ศ. 1644 (ตรงกับสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง)


เพื่อความมั่นคงของราชวงศ์ใหม่ ราชสำนักของชาวแมนจูซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย วางนโยบายหลายอย่างในการควบคุมชาวฮั่น ซึ่งมีจำนวนมากกว่ามาก เช่น การกลืนชาวฮั่นโดยบังคับให้แต่งกายและ โกนผมครึ่งหัว ไว้เปียด้านหลังแบบชาวแมนจู สิ่่งนี้ขัดกับค่านิยมของชาวฮั่นที่ถือว่าผมเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษมอบให้ การตัดผมเป็นการไม่เคารพบรรพชน ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างหนัก


แม้ราชสำนักชิงจะออกคำประกาศ “ไว้หัวไม่ไว้ผม ไว้ผมไม่ไว้หัว” (หลิวโถวปู้หลิวฝ่า หลิวฝ่าปู้หลิวโถว 留头不留发,留发不留头) ก็ยังมีผู้คนมากมายยอมตาย ด้วยเห็นว่าไว้ผมเปียก็ไม่ต่างจากการตกเป็นทาสของแมนจู ทั้งนี้ในเวลานั้น ชาวแมนจูสั่งเวณคืนที่ดินทำให้ชาวฮั่นสูญเสียที่ดิน ตกไปเป็นทาสอีกด้วย

ราชวงศ์ใหม่ปกครองโดยใช้วิธีชุบเลี้ยงผู้ที่มาสวามิภักด์ ปราบปรามและลงโทษผู้ต่อต้านอย่างรุน ส่งผลให้ชาวฮั่นล้มตายหลายแสนคน และจำนวนมากหนีลงมาทางด้านใต้

เนื่องจากผืนแผ่นดินจีนนั้นกว้างใหญ่ แม้ครอบครองปักกิ่งและตอนเหนือของจีนได้ ชาวแมนจูต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี เคลื่อนทัพจากเหนือเข้ายึดแผ่นดินทางตอนใต้ ที่ยังมีกองทัพและประชาชนที่ยังคงภักดีต่อ

ราชวงศ์หมิง



เจิ้งเฉิงกง


เมื่อทัพแมนจูมาถึงมณฑลฝูเจี้ยนซึ่งอยู่ห่างไกลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ พบกับการต่อต้านอย่างหนัก จากเจิ้งเฉิงกงผู้นำชาวฮกเกี้ยน แม้ว่าก่อนหน้านี้ ทัพแมนจูปิดเมืองหยางโจว สังหารผู้ต่อต้านต่อเนื่องกว่า 10 วัน มีผู้คนล้มตายนับแสน ประวัติศาสตร์ บันทึกไว้ในชื่อ “การสังหารหมู่หยางโจว”


อย่างไรก็ตาม สุดท้ายกลุ่มผู้ภักดีของราชวงศ์หมิงก็พ่ายแพ้ เจิ้งเฉิงกงนำผู้คน หนีข้ามไปเกาะฟอมูซา (ไต้หวัน ) ยึดเป็นที่มั่นคอยต่อสู้กับแมนจูต่อไป


ในขณะเดียวกันมีชาวฮกเกี้ยนจำนวนมากเลือกอพยพออกจากประเทศ ด้วยยังไม่เห็นหนทางเอาชนะทัพแมนจู อย่างน้อยก็ในชั่วชีวิตของตน ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการอยู่ใต้บังคับของราชสำนักชิง



เมื่อไร้หนทางก็ไปตายดาบหน้า


ภาษิตโบราณกล่าวไว้ว่า “หมิ่นไจ้ไห่จง” (閩在海中) หรือ “ฝูเจี้ยนอยู่ในทะเล” มีความหมายว่าชีวิตของชาวฮกเกี้ยนนั้นผูกพันกับทะเล


มณฑลฝูเจี้ยนตั้งอยู่บริเวณรอบนอกทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน มีพื้นที่ 120,140 ตารางกิโลเมตร มีชายฝั่งยาวถึง 3,051 กิโลเมตร มีท่าเรือ 125 แห่ง และเกาะ 1,202 เกาะ กิจการการค้าทางทะเลของชาวฮกเกี้ยนยาวนานนับพันปี


บันทึกของสยามกล่าวถึงสำเภาชาวฮกเกี้ยนที่เข้ามาทำการค้าแถบชายฝั่งด้านตะวันออกของแหลมมลายูตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ตลอดระยะเวลายาวนานนั้น ชุมชนฮกเกี้ยน ถือกำเนิดขึ้นตามเมืองท่าในแหลมมลายู


ทว่าในกลางศตวรรษที่ 17 ระลอกชาวฮกเกี้ยนที่ตามรอยมาหนานหยาง ไม่เพียงมีจำนวนมากกว่า พวกเขายังไม่ใช่พ่อค้า แต่เป็น ‘ผู้พลัดถิ่น’ มีทั้งกลุ่มต่อต้านที่พ่ายแพ้และชาวบ้านสามัญที่ต้องการหนีภัยราชวงศ์ชิงและการนองเลือด

ต่างกับกลุ่มพ่อค้าที่เดินทางไปมา พวกเขาไม่อาจย้อนกลับบ้านเกิด เพราะตราบใดที่ราชวงศ์ชิงคงอยู่ การกลับบ้านหมายถึงความตาย

นโยบายปิดประเทศ


การปราบกบฎของราชวงศ์ชิง สำเร็จลงในปี 1683 เมื่อจักรพรรดิคังซีบุกเกาะไต้หวัน และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน จากนั้นก็ขึ้นเหนือไปปราบมองโกลและเข้ายึดครองทิเบต (เวลานี้ผู้นำในปัจจุบันของจีนยึดเอาอาณาเขตในยุคคังซีเป็นพื้นที่ที่ถือว่าอยู่ในการครอบครองของจีน)



จักรพรรดิคังซี


นับจากนั้นจนถึงจักรพรรดิเฉียนหลง รวมเวลาต่อเนื่องยาวนานกว่า 130 ปี (ตรงกับระยะเวลาจากรัชสมัยพระนารายณ์มหาราชถึงรัชกาลที่ 1 ) ถือเป็นยุคทองที่ราชวงศ์ชิงขึ้นสู่จุดสูงสุด สามารถรวบรวบดินแดนเป็นปึกแผ่น สร้างความมั่นคงด้านการเมืองการปกครอง ฟื้นฟูและพัฒนาการผลิตด้านเกษตรกรรม หัตถกรรมและการค้า


อย่างไรก็ตามราชสำนักชิงยังคงจับตามมองชาวฮั่นมาโดยตลอด และเนื่องจากกลุ่มผู้ต่อต้าน ส่วนใหญ่อยู่ทางด้านใต้ติดชายฝั่งทะเล จึงมีความพยายามควบคุมพื้นที่แถบนี้ เช่น การออกกฎหมาย บังคับให้ประชาชนอพยพออกห่างจากชายฝั่งอย่างน้อย 50 ลี้ และสั่งปิดเมืองท่าทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ช่วยเหลือกลุ่มต่อต้านบนเกาะไต้หวัน และป้องกันคนอพยพออกนอกประเทศ


กฎนี้ยกเลิกไปในสมัยจักรพรรดิคังซี แต่ต่อมาจีนก็ปิดเมืองท่าสลับกับเปิดเป็นระยะ ขึ้นกับความเข้มแข็งของส่วนกลาง และปัญหาภายใน เช่น ภาวะขาดแคลนอาหาร


การดำเนินนโยบายนี้ ทำให้การค้าทางทะเลของจีนที่ต่อเนื่องมานับพันปีหยุดชะงักลง แสดงให้เห็นว่าราชวงศ์ชิงให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการเมืองเหนือเศรษฐกิจ เนื่องจากปักกิ่งซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจอยู่ทางด้านเหนือ ส่วนเมืองท่าสำคัญอยู่ทางด้านใต้ ห่างกันถึง 2,000 กว่าไมล์ การค้าและความมั่งคั่งทางใต้ สามารถกลายเป็นขุมกำลังต่อต้านอำนาจรัฐที่อยู่ไกลออกไป

การควบคุมการค้าทางทะเล ทำให้ต้องพึ่งการเกษตรที่ขึ้นต่อดินฟ้าอากาศ ในขณะที่ประชากรเพิ่มแต่พื้นที่การเพาะปลูกจำกัด ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลน โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ


อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่จีนเปิดเมืองท่า ก็มีผู้คนอพยพออกมา ทำให้ต้องสั่งปิดเมืองท่าเป็นระยะ เช่น ในปี 1712 มีกฎหมายห้ามค้าขายและตั้งถิ่นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอนุญาตให้คนจีนคืนถิ่นได้ โดยให้เวลาถึงปี 1721 หลังจากนั้นห้ามกลับแผ่นดินจีน


ใน ค.ศ. 1722 (สมัยอยุธยา รัชกาลพระเจ้าท้ายสระ) มณฑลกวางตุ้ง และฮกเกี้ยนประสบปัญหาขาดแคลนข้าว ตาม “ประวัติเจียซิ่ง” บันทึกไว้ว่า “ชาวเมืองเฉิงไห่ขอใบอนุญาตไปซื้อข้าวเมืองสยาม เพื่อนำกลับมาช่วยแก้ปัญหาอดอยาก แม้จะดำเนินมากว่า 40 ปีแต่จากคำบอกเล่า ที่ไปแล้วกลับมามีไม่เกินห้าหรือหกในสิบเท่านั้น” สันนิษฐานได้ว่า ส่วนที่เหลืออาจเลือกไม่เดินทางกลับ รวมทั้งมีบันทึก ระบุว่าในช่วงเวลานี้ พ่อค้าจีนแต้จิ๋วจำนวนมากอพยพไปอยู่ในสยาม


ในปีถัดมา(1723) จึงมีการออกกฎให้แต่ละมณฑลที่เดินเรือทำการค้า ทาสีหัวเรือให้แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์ในการสำรวจและจัดเก็บภาษีอากร โดยเรือของแต้จิ๋ว ทาสีแดง เรือของฮกเกี้ยนทาสีเขียว เรือจากเจ้อเจียง ทาสีขาวและเรือจากเจียงซู(เชี่ยงไฮ้)ทาสีดำ



ภาพวาดสำเภาหัวแดงของชาวแต้จิ๋ว


ในช่วงเวลานี้ จึงมีเรือหลากสีเข้าในอ่าวของสยาม โดยเฉพาะเรือหัวแดงของชาวจีนแต้จิ๋ว ที่มีสายสัมพันธ์กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้อพยพเข้ามาทั้งช่วยในการศึกสงครามและสร้างราชธานีใหม่ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 1


การหนีตายครั้งที่ 2


แม้ราชวงศ์ชิงจะควบคุมแผ่นดินได้ทั้งหมด แต่ใช่ว่าชาวฮั่นจะสยบยอมต่ออำนาจ เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ จากการสู้รบโดยตรงเป็นสมาคมลับ โดยเริ่มขึ้นในสมัยจักรพรรดิคังซี ที่การปราบปรามกลุ่มผู้ต่อต้าน ทำให้สูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินมากมาย


บันทึกของ ดร. ซุนยัดเซ็น อธิบายว่ากลุ่มต่อต้านตระหนักว่าไม่สามารถล้มล้างราชวงศ์ชิงได้ในระยะเวลาอันสั้น และเห็นว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างลับๆ ปลอดภัย และได้ผลดีกว่า


ฝ่ายต่อต้านก่อตั้ง 'สมาคมฟ้าดิน(เทียนตี้ฮุ่ย天地会)'เพื่อสืบทอดเจตนารมย์ “ล้มราชวงศ์ชิง ฟื้นราชวงศ์หมิง/ล้มแมนจูฟื้นฟูหมิง (ฝ่านชิงฟู่หมิง 反清复明)” ส่งทอดอุดมการชาตินิยม และเป้าหมายการฟื้นฟู

ราชวงศ์หมิง จากรุ่นสู่รุ่น และเคลื่อนไหวต่อต้านราชวงศ์ชิงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ สมาคมฟ้าดินมีสาขาทั่วประเทศ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนระดับล่างที่ราชสำนักชิงไม่เพ่งเล็ง


อย่างไรก็ตาม ตอนปลายศตวรรษที่ 18 สิ้นรัชสมัยอันรุ่งเรืองของจักรพรรดิเฉียนหลง สมาคมลับเคลื่อนไหวต่อต้านการการจัดเก็บภาษี ทำให้ถูกปราบปรามอย่างหนัก สมาชิกถูกจับกุมและประหารชีวิต กอเล่อฮวน หนึ่งในผู้นำสมาคมฟ้าดินชาวฮกเกี้ยน พาผู้คนในสังกัด หนีไปมลายู ที่ซึ่งผู้ต่อต้านชาวฮกเกี้ยนเมื่อศตวรรษมาตั้งถิ่นฐานไว้


เช่นเดียวกับผู้ต่อต้านในอดีต พวกเขาไม่คิดจะกลับไปเมืองจีนอีก ต่างกันที่ผู้ลี้ภัยรุ่นใหม่เป็นพ่อค้า กอเล่อฮวนสร้างสายสัมพันธ์กับผู้นำท้องถิ่น รวมถึงเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เมื่ออังกฤษสร้างเมืองท่าที่ปีนัง เขาเป็นกำลังสำคัญในการหาแรงงาน ทั้งชาวมลายูและจีนฮกเกี้ยน ทำให้ได้เป็นผู้นำจีนคนแรกของปีนัง



ชาวพื้นเมืองปีนังปี 1900 ภาพจากLeiden University Libraries Digital Collections



กอเล่อฮวนจึงเป็นผู้ที่นำชาวฮกเกี้ยนอพยพจำนวนมากไปตั้งหลักแหล่งในปีนัง เป็นต้นกำเนิดปีนังเปอรานากัน และเขาเป็นผู้สนับสนุน คอซูเจียง(ต้นตระกูล ณ ระนอง) ซึ่งเป็นชาวฮกเกี้ยนเช่นกัน ให้เข้ามาบุกเบิกด้านการค้าและกิจการเหมืองแร่ในชายฝั่งอันดามันของสยาม....


(มีต่อ)


 


191 views0 comments

Commenti


bottom of page