ตอนที่ 1 ‘ปีนัง’ ประตูสู่ ‘หนานหยาง’
ท่าเรือในปีนัง ปี 1910 ภาพถ่ายโดย Kleingrothe, C.J. จาก Leiden University Libraries Digital Collections
หากจะสรุปสั้นๆ ก็คงไม่ผิดความจริงมากนัก ถ้าจะพูดว่าเมืองเหมืองแร่ชายฝั่งอันดามัน พัฒนาขึ้นโดยชาวจีนภายใต้การสนับสนุนของรัฐไทย ที่ต้องการทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ ชาวจีน มาบุกเบิกกิจการเหมืองแร่ดีบุก ไม่ว่าจะเป็น กะทู้ หรือทุ่งคาที่เป็นตัวเมืองภูเก็ต ในปัจจุบัน ตะกั่วป่า ระนอง รวมถึงห้วยยอดในตรัง ล้วนแล้วเติบโตขึ้นมาใน ยุคเฟื่องฟูของเหมืองแร่
แม้เมืองเหมืองแร่จะอยู่ในเขตแดนสยาม แต่ศูนย์กลางของเมืองเหล่านี้ในเวลานั้นกลับเป็น ‘ปีนัง’ เมืองท่าที่เป็นประตูส่งออกแร่ดีบุกไปยังโลกตะวันตกและเป็นจุดขึ้นฝั่งของชาวจีนอพยพ ที่เข้ามาแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในดินแดน ‘หนานหยาง’
ทั้งหมดเป็นเหตุ ให้เมืองซึ่งเติบโตจากกิจการเหมืองแร่ดีบุกแถบชายฝั่งอันดามัน ไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต พังงา ระนอง รวมถึงตรัง มีลักษณะพิเศษทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘วัฒนธรรม’ สืบทอดมาถึงทุกวันนี้
ความฝันถึง “หนานยาง”
นานนับพันปีมาแล้วที่ชาวจีนพัฒนาความสามารถในการต่อเรือและเดินเรือ โดยอาศัยลมมรสุม ออกผจญภัย แสวงหาโอกาสในดินแดนใหม่ๆ รวมถึง ‘หนานหยาง’ หรือ ‘ หนานไห่’ ซึ่งแปลตามตัวได้ว่า ทะเลใต้ หมายถึงดินแดนในแถบคาบสมุทรมลายู ที่เป็นทั้งดินแดนที่อุดมด้วยสินค้าแปลกใหม่ จากตะวันตก และเป็นจุดแวะพักรอลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดใบเรือเพื่อเดินทางกลับ
เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618-960) หรือประมาณพันกว่าปีที่ผ่านมา การค้าทางทะเลของจีนก็รุ่งเรืองมากแล้ว มีท่าเรือทั้งในมณฑลกว้างตุ้งและฝูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) เพื่อรวบรวมสินค้ามาขายในแถบเอเชียอาคเนย์ อินเดีย ไปจนถึงอาหรับ และเปอร์เชีย ซึ่งเป็นประตูสู่ดินแดนตะวันตก ในอีกด้านหนึ่งเมืองท่าเหล่านี้เป็นแหล่งกระจายสินค้าตามลำน้ำ ออกไปยังเมืองต่างๆ ภายในประเทศ
ในช่วงศตวรรษที่ 15 การเดินทางเจิ้งเหอรวม 7 ครั้ง ในเวลากว่า 30 ปี (ค.ศ.1405-1435) ทุกครั้งกลับมาพร้อมเครื่องราชบรรณาการมากมาย ที่แสดงให้เห็นความมั่งคั่งของดินแดนทางทางใต้ เติมความฝันให้กับชาวจีนที่ต้องการสร้างอนาคตในดินแดนใหม่ มีชาวจีนมากมายในเวลานั้น โดยเฉพาะชาวจีนตามเมืองท่าทางตอนใต้ ออกเดินทางเพื่อแสวงหาโชค จนรัฐบาลจีนต้องสั่งห้ามอพยพ
เดิมชาวจีนจะไม่ย้ายถิ่น ด้วยความเชื่อความคำสอนของลัทธิขงจื้อ ที่ให้ความสำคัญ กับความกตัญญู และการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ แม้การเดินทางเพื่อการค้า ทำให้ต้องพักในต่างถิ่นนานหลายเดือนหรือเป็นปี
แต่ในยุคหลังความยากลำบากบนแผ่นดินจีน ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้คนจีนต้องละทิ้งบ้านเกิด ไปแสวงหาอนาคตที่ดีกว่าในดินแดนอันห่างไกล ด้วยความหวังจะได้กลับบ้านในชุดแพร
การอพยพของชาวจีนเกิดขึ้นหลายระลอก ตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนการพัฒนาของเทคโนโลยีการเดินเรือ ซึ่งในระยะหลังเรือมีขนาดใหญ่ขึ้น บรรทุกผู้อพยพได้จำนวนมากขึ้น
การอพยพครั้งสำคัญเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 เป็นห้วงเวลาแห่งความยากลำบากของจีนในช่วงปลายราชวงศ์ชิง ที่เต็มไปด้วยการฉ้อราษฏรบังหลวง ในขณะเดียวกันจีนต้องเผชิญกับการขยายอำนาจ ออกล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ที่กดดันให้จีนเข้าสู่สงครามฝิ่น(1835-1852) ตามด้วยความระส่ำระสายจากการปราบกบฎไต้ผิง(1851-1864) ต่อเนื่องด้วยการเข้ารุกรานของญี่ปุ่น ศตวรรษนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนระลอกใหญ่อพยพออกไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก
ในเวลาเดียวกัน อุตสาหกรรมเคลือบป้องกันสนิมเหล็กด้วยดีบุก เริ่มต้นขึ้นในปี 1840 นับจากนั้น ความต้องการแร่ชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ สายแร่ดีบุกขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ทอดยาวจากเทือกเขาในตอนใต้ของพม่า ต่อเนื่องมายังภาคตะวันตกของไทย ลงมาตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่ระนองไปจนถึงเปรักในแหลมมลายู จากนั้นแตกแขนงไปถึงบริเวณเกาะสุมาตรา
ดึงดูดชาวจีนให้ฝันถึงอนาคตใหม่ที่รุ่งเรืองในหนานหยาง
ทั้งโอกาสทางการค้าและการลงทุนในกิจการเหมืองแร่ ไปจนถึงความต้องการแรงงานจำนวนมหาศาลในเหมือง ที่ระยะแรกใช้แรงงานคนเป็นหลัก เปิดรับผู้มาใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ที่เดินทางออกจากท่าเรือในเมืองเฉวียนโจว มลฑลฝูเจี้ยน มาขึ้นฝั่งที่ ‘ปีนัง’ ชุมชนเล็กๆ ที่แปรเปลี่ยนกลายเป็นศูนย์กลางความมั่งคั่งในชั่วข้ามคืน
ย่านการค้าบนถนนชายหาด ของปีนัง ปี 1910 ภาพถ่ายโดย Kleingrothe, C.J. จาก Leiden University Libraries Digital Collections
จากเกาะหมากถึงปีนัง
เดิมชาวสยามเรียกปีนังว่า ‘เกาะหมาก’ เป็นคำแปลของ ‘Penang’ ซึ่งเป็นภาษามลายู เกาะหมากเป็นส่วนหนึ่งของสยาม อยู่ภายใต้การปกครองของไทรบุรี ซึ่งเป็น เมืองขึ้นของสยามเช่นเดียวกับ กลันตัน ตรังกานู และปะริด
เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตกในปี 1767 หัวเมืองทางตอนใต้ซึ่งห่างไกลจากศูนย์กลาง พยายามแยกตัวเป็นอิสระ เมื่อถึงปี 1786 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1)
ฟรานซิสต์ ไลท์ ( Francis Light) ในนามบริษัทอีสอินเดียของอังกฤษ ขอเช่าปีนังจากสุลต่านไทรบุรี แลกกับการคุ้มครองของอังกฤษ เพื่อให้พ้นจากอิทธิพลสยาม
อย่างไรก็ตามเมื่อสยามยกกองทัพมาปราบไทรบุรี อังกฤษก็ไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด ทำให้สุลต่านไทรบุรีแค้นเคืองและพยายามยึดปีนังคืนถึงสองครั้งทว่าไม่สำเร็จ
ต้องยินยอมสงบในปี 1791 โดยอังกฤษจะเสียค่าเช่าให้ปีละ 6,000 เหรียญ ลดลงจากเดิมที่ตกลงไว้ที่ 10,000 เหรียญ
เมื่อไทยเข้าขึ้นไทรบุรีคืน และส่งเจ้าเมืองจากสยามไปปกครอง สุลต่านไทรบุรีจึงหนีไปเกาะหมาก
ทางด้านอังกฤษ ฟรานซิส ไลท์ เป็นชาวอังกฤษที่เข้ามาเปิดบริษัทค้าขายในเมืองมัทราช ซึ่งเป็นเมืองท่าของอังกฤษในอินเดีย พยายามหาลู่ทางใหม่ๆทางการค้า ด้วยการตั้งสถานีการค้าที่ถลาง แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก จึงมองหาเป้าหมายใหม่ที่ปีนัง ประกอบกับในเวลานั้นอังกฤษซึ่งมีบริษัทอีสอินเดียเป็นตวแทนทางการค้า พยยามหาลู่ทางขยายอิทธิพลเข้ามาในแหลมมลายู และช่องแคบมะละกา ที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างทะเลจีนใต้ อันเป็นที่มาของสินค้าจากจีน กับทะเลอันดามันที่เชื่อมต่อไปยังอินเดีย
ในเวลานั้นช่องแคบมะละกาอยู่ภายใต้อิทธิพลของดัทช์(ฮอลันดา/เนเธอแลนด์) ที่เรียกเก็บค่าผ่านทางของเรือสินค้าในอัตราสูง อังกฤษจึงรับข้อเสนอของฟรานซิส ไลท์ ที่จะขอเช่าปีนังเพื่อสร้างท่าเรือและสถานีการค้าของตัวเองทีปากทางเข้าช่องแคบมะละกา รองรับการขยายตัวทางการค้ากับจีนตอนใต้ และการค้าแร่ดีบุก
บ้านของชาวพื้นเมืองบนเกาะปีนัง ปี 1910 ภาพถ่ายโดย Kleingrothe, C.J. จาก Leiden University Libraries Digital Collections
เกาะปีนังในเวลานั้นมีเพียงหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็ก ฟรานซิส ไลท์ เปลี่ยนชื่อเกาะเป็น ปรินซ์ออฟเวลส์ และสร้างเมืองขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าของเกาะ ให้ชื่อว่า จอร์ช ทาวน์ ตามพระนามของพระเจ้าจอร์ชที่ 3 กษัตริย์อังกฤษในเวลานั้น
อังกฤษเปิดปีนังเป็นท่าการค้าเสรี ไม่เก็บภาษี เพื่อดึงดูดพ่อค้านักเดินทางให้เข้ามาค้าขาย และลงทุนที่ท่าเรือใหม่แห่งนี้ ทำให้ปีนังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สามสิบสามปีต่อมา(ปี 1819) อังกฤษสร้างเมืองท่าแฝดของปีนัง ขึ้นที่สิงคโปร์ ซึ่งอยู่ปลายช่องแคบมะละกา โดยมีเป้าหมายขจัดอิทธิพลของดัชท์ และประสบความสำเร็จอย่างดี ต่อมาในปี 1824 มะลากาตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และเมืองท่าเก่าแก่แต่โบราณแห่งนี้ปิดตัวไปในที่สุด
เมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ความต้องการแร่ดีบุกในตลาดโลก ส่งผลให้ปีนังซึ่งเป็นจุดรวบรวบและส่งออกดีบุก ก้าวสู่ความรุ่งเรืองสูงสุด
ต่อมาเมื่ออังกฤษขยายอิทธิพลเข้ามาในแหลมมาลายู ได้ใช้ปีนังเป็นศูนย์กลางการปกครอง อาณานิคมช่องแคบมะละกา (Straits Settlemants)
ถือได้ว่าปีนังเป็นเมืองที่เจริญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายสร้างความมั่งคั่ง กลุ่มสำคัญในปีนัง คือชาวจีนฮกเกี้ยนจากมณฑลฝูเจี้ยน (ปัจจุบันปีนังเป็นรัฐเดียวในมาเลเซียที่มีประชากรเชื้อสายจีนมากกว่าเชื้อสายมลายู)
กลุ่มพ่อค้าที่สะสมทุนอยู่ในปีนัง มองเห็นโอกาสจากความต้องการแร่ดีบุกในตลาดโลก เข้ามาลงทุนในกิจการเหมืองแร่ตามเส้นทางสายแร่ตั้งแต่ ภูเก็ต พังงา ตะกั่วป่า ระนอง จนถึงตรัง พร้อมกันนั้นก็นำเข้ากรรมกรเหมืองแร่จากมณฑลเดียวกัน ส่งผลให้ชายฝั่งอันดามันผูกพันเน้นเฟ้นกับปีนัง ตามสายสัมพันธ์ของชาวจีนฮกเกี้ยน
หน้าเขา ริมเล
นอกจากสายสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนในเมืองเหมืองแร่กับชาวจีนในปีนังแล้ว ความใกล้ชิดกับปีนัง ยังมีที่มาจากสภาพทางภูมิศาสตร์ ของภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มีลักษณะเป็นที่ราบแคบๆ ชายฝั่งทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา พื้นที่ทำการเกษตรน้อย เศรษฐกิจหลักจึง อยู่ที่การค้าทางเรือและการทำเหมืองแร่ดีบุกมาตั้งแต่อดีต
สภาพหน้าเขา ริมเล ที่เมืองชายฝั่งทั้งหมดถูกล้อมด้วยภูเขา และมีเทือกเขาบรรทัดกั้นจากภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้ไม่เพียงแต่ห่างใกล้จากศูนย์กลางของสยาม ไม่ว่าจะเป็นอยุธยาหรือกรุงเทพ หากแต่การเดินทางยังยากลำบาก ด้วยต้องข้ามภูเขาจึงจะเข้าถึงฝั่งตะวันออก แล้วเข้าสู่อ่าวไทย ไปยังกรุงเทพ
การคมนาคมและการค้าในหัวเมืองฝั่งตะวันตก จึงอาศัยการเดินเรือทางทะเลเป็นหลัก เส้นทางการค้าจึงผูกพันกับมลายูและปีนังมาช้านานตามลำดับ
การเดินทางทางทะเลจากภูเก็ตไปปีนัง สั้นและปลอดภัยกว่าไปกรุงเทพ
ความรุ่งเรืองของปีนังไม่เพียงทำให้เกาะเล็กๆ แห่งนี้ กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นศูนย์กลางทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย ไม่เพียงแต่ผู้มีฐานะในภาคใต้ แม้แต่ผู้มีฐานะในกรุงเทพก็นิยมส่งลูกหลานไปเรียนคอนแวนต์ที่ปีนัง เพื่อ “ให้ได้ภาษาอังกฤษ”
ปีนังคงสภาพเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ฝั่งตะวันตก ต่อเนื่องมาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และต้นพุทธศักราช 2500 ก็ค่อยๆ คลายความสำคัญลง เมื่อรัฐบาลไทยพยามยามเชื่อมโยงภาคใต้ เข้ากับส่วนกลางด้วยถนนเพชรเกษม
Comentários