สุพิตา เริงจิต
หากจะมีอะไรที่บ่งบอกถึงความกว้างไกลของอาณานิคมอังกฤษ หนึ่งในนั้นน่าจะเป็น ‘มื้อน้ำชายามบ่าย(Afternoon Tea)’ ด้วยเหตุนี้ คำเชิญชวนไปสัมผัสช่วงเวลายุคอาณานิคมผ่านมื้อน้ำชาแบบดั้งเดิม ทำให้ ซัฟฟอล์ก เฮาส์ (Suffolk House) เป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของฉันในการไปปีนังครั้งนี้
ซัฟฟอล์ก เฮาส์ เป็นที่พำนักของ ฟรานซิส ไลท์ (ค.ศ.1740-1794) ผู้ก่อตั้งนิคมอังกฤษบนเกาะปีนัง จุดเริ่มต้นการแผ่อิทธิพลของจักรวรรดิอังกฤษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไลท์ออกสู่ท้องทะเลตั้งแต่อายุ 19 ปี เริ่มจากเป็นทหารในราชนาวีอังกฤษ ก่อนย้ายมาเดินเรือให้บริษัทบริติชอิสอินเดีย (British East India Company)บนเส้นทางการค้าแถบตอนใต้ของสยามถึงคาบสมุทรมลายู และได้พบกับ มาร์ทีนา รอเซลล์ (Martina Rozells) หญิงชาวถลางลูกครึ่งโปรตุเกส ทั้งสองร่วมกันสร้างด่านการค้าในถลาง และเป็นผู้มีอิทธิพลทางการค้าในแถบนี้
ซัฟฟอล์ก เฮาส์ กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2024
ในปี 1786 ไลท์ในนามของบริษัทบริติชอีสอินเดีย ขอเช่าเกาะปีนังจากสุลต่านแห่งเคดะห์ ในอัตรา 6,000 เหรียญสเปนต่อปี เพื่อสร้างเมืองท่าใหม่เหนือช่องแคบมะละกา และในฐานะผู้ว่าการเกาะเขาเปลี่ยนชื่อ ปีนังเป็น เกาะพริ้นซ์ ออฟ เวลส์ (Prince of Wales Island) เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าชายแห่งเวลส์ และก่อตั้งเมืองท่าขึ้นให้ชื่อว่า จอร์จทาวน์ ตามพระนามของพระเจ้าจอร์จที่ 3 กษัตริย์อังกฤษในเวลานั้น ส่วนบ้านของเขาที่ปลูกในสวนพริกไทย ไลท์ให้ชื่อว่า ซัฟฟอล์ก ตามชื่อเมืองบ้านเกิดของเขาในอังกฤษ
ปีนังเติบโตอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนจากป่าเขาที่อาศัยของชาวพื้นเมืองเพียงหยิบมือ กลายเป็นเมืองท่าที่มีผู้คนกว่า 10,000 คน ภายใน 3 ปี และเพิ่มเป็น 20,000 คน ในปี ค.ศ.1795 หนึ่งปีหลัง ฟรานซิส ไลท์ เสียชีวิตด้วยไข้มาลาเรีย ในวัยเพียง 54 ปี
สองทศวรรษต่อมา ในปี ค.ศ. 1819 อังกฤษสร้างเมืองท่าฝาแฝดของปีนังขึ้นที่สิงคโปร์ และยึดมะละกาจากดัตช์ในปี ค.ศ.1824 นับจากนั้นอังกฤษครอบครองเส้นทางการค้าในช่องแคบมะละกาโดยสมบูรณ์ ตั้งปีนังเป็นศูนย์กลางการปกครองของนิคมช่องแคบ (Straits Settlements) มีความสำคัญเทียบเท่ากับบอมเบย์และมัทราช ในอินเดีย ก่อนที่จะถูกแทนที่โดยสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1832
ตึกแบบตะวันตกในจอร์จทาวน์ สร้างเมื่อปี 1923
แต่ปีนังยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในฐานะศูนย์กลางทางการเงินและการค้าดีบุก ต่อมาในปี ค.ศ.1867 อังกฤษยกฐานะนิคมช่องแคบขึ้นเป็นอาณานิคมและเข้ามาปกครองโดยตรง พัฒนาทางด้านกฎหมาย สาธารณสุขและการคมนาคมขน ส่งผลให้ปีนังกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญ ในรูปแบบของเมืองพหุวัฒนธรรมที่มีเสรีภาพ คึกคักด้วยปัญญาชนทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก รวมทั้ง ดร.ซุนยัตเซ็น จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเข้ายึดครองแหลมมลายู และหลังสงคราม ในปี ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) มาเลเซียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ นับเวลาที่ปีนังอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษรวม 170 ปี
ในระหว่างนั้นซัฟฟอล์กก้าวขึ้นจุดสูงสุดก่อนจะพังทลายลงมา เดิมทีไลท์ทำพินัยกรรมยกบ้านและที่ดินให้ภรรยา แต่มาร์ทีนาแต่งงานใหม่และย้ายไปอยู่ที่อื่น ไม่ชัดเจนว่าใครครอบครองบ้านในเวลาต่อมา จนกระทั่งปี ค.ศ.1805 วิลเลียม เอ็ดเวิร์ด ฟิลลิปส์ ซึ่งต่อมาเป็นผู้ว่าการของปีนัง ซื้อที่ดินผืนนี้และสร้างคฤหาสน์หลังใหญ่สองชั้นสไตล์จอร์เจียน ตามแบบฉบับบ้านของเจ้าอาณานิคมในอินเดียเวลานั้น แทนบ้านเดิมของไลท์ ที่มีบันทึกว่าเป็นบ้านไม้แบบเรียบง่ายสไตล์บ้านสวนอังกฤษ แต่ยังคงชื่อ ซัฟฟอล์กไว้เช่นเดิม
ระเบียงขนาดใหญ่กันแดดและฝน รูปแบบสถาปัตยกรรมในประเทศอาณานิคมเขตร้อนของอังกฤษ
ในยุครุ่งเรืองคฤหาสน์แห่งนี้ทำหน้าที่เป็นที่พำนักของผู้ว่าการเกาะปีนัง และใช้เป็นที่ประชุมสำคัญของรัฐเป็นเวลากว่า 100 ปี จนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1928 ตึกและที่ดินโดยรอบถูกขายให้ ลิม เฉิง เต็ก (Lim Cheng Teik) และเขาขายต่อให้กับสาธุคุณพี.แอล.พีช (P.L. Peach) โบสถ์เมธอดิสต์แห่งมลายา ใช้สร้างโรงเรียนมัธยม
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นใช้บ้านหลังนี้เป็นที่ทำการของกองทัพ หลังสงครามอาคารค่อยๆ ทรุดโทรมลง และถูกประกาศว่าไม่ปลอดภัยต่อการใช้งานในปี ค.ศ.1975 จนสุดท้ายชั้นบนและหลังคาก็พังทลายลงมา
ล่วงมาถึงคริสต์ทศวรรษที่ 2000 อาคารได้รับการบูรณะ และเปิดใหม่ในปี 2009 ภายใต้การดูแลของ Badan Warisan Malaysia ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์และดูแลมรดกสิ่งก่อสร้าง ทั้งนี้ ซัฟฟอล์ก เฮาส์ ถือเป็นบ้านหลังใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดในยุคอาณานิคม เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ของสถาปัตยกรรมแองโกล-อินเดียนอกประเทศอินเดีย
สวนด้านหน้ามองจากระเบียงหน้าห้องน้ำชา
ซัฟฟอล์ก เฮ้าส์ ในวันที่ฉันไปถึง โอบล้อมด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ สนามหญ้าและตัวตึกเงียบสงัด ทางเดินโรยกรวดจากประตูรั้วถึงประตูตึกไร้ผู้คน มีเพียงป้ายเล็กๆ บอกทางขึ้นห้องอาหารชั้นสอง ส่วนชั้นล่างที่เคยเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ปิดไว้
ชั้นสองของบ้านรายล้อมด้วยระเบียงขนาดใหญ่ ภายในห้องกระจกตกแต่งอย่างหรูหรางดงามด้วยดอกไม้ ให้บรรยากาศสูงส่งของมื้อน้ำชายามบ่าย บริกรเชื้อสายอินเดียและรูปลักษณ์ของตึกให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในอินเดียมากกว่าปีนัง ไม่แปลกอะไรที่เว็บไซต์ของซัฟฟอล์ก ระบุว่า บ้านหลังนี้ใช้ถ่ายทำซีรีย์ Indian Summer ซึ่งตามท้องเรื่องเป็นเหตุการณ์ในอินเดียช่วงทศวรรษที 1930 ต่างกันที่ผู้คนที่มาดื่มชาไม่ได้อยู่ในชุดหรูหราเช่นในซีรีย์ แต่เป็นเสื้อและกางเกงลำลองแบบคนท้องถิ่น และนักเที่ยว เช่นเดียวกับฉัน
มื้อน้ำชาที่ซัฟฟอล์ก อ้างอิงแบบอังกฤษดั้งเดิม เสิร์ฟของว่างเป็น แซลมอลรมควัน แซนวิชทูนาครีมชีส แซนวิชแตงกวา พายไก่และเห็ด ทาร์แตงเป็ดรมควัน ส่วนของหวานประกอบด้วย เค้กและขนมอบ รวมทั้งเค้กราดน้ำเชื่อมแบบดั้งเดิม และสโคนอบใหม่มาพร้อมกับแยมโฮมเมดและวิปครีมสด แน่นอนว่ามีชาหลากหลายแบบให้เลือก ล้วนเป็นชาอังกฤษไม่ใช่ชาจีน
Afternoon Tea ที่ซัฟฟอล์ก
แรกเริ่มที่ชาวอังกฤษรู้จักเครื่องดื่มชนิดนี้ในราวกลางศตวรรษที่ 17 ชาเป็นเครื่องดื่มในราชสำนัก ชนชั้นสูง และพ่อค้า เนื่องจากเป็นสินค้านำเข้าราคาแพงจากจีน ส่วนธรรมเนียมมื้อน้ำชายามบ่ายของอังกฤษเริ่มขึ้นในกลางศตวรรษที่ 19 ราวปี ค.ศ.1840 จากความหิวของแอนนา ดัชเชสที่เจ็ดแห่งเบดฟอร์ด (Anna, the seventh Duchess of Bedford) นางกำนัลของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งอังกฤษ ดัชเชสต้องการของรองท้องดับหิวก่อนมื้อค่ำ สืบเนื่องมาจากอังกฤษเข้าสู่ยุคแสงสว่างจากไฟฟ้า ทำให้กิจกรรมต่างๆ ขยายเวลาเข้าสู่ช่วงกลางคืน รวมทั้งมื้ออาหารเย็นที่ขยับไปถึงสองทุ่ม ดัชเชสจึงใช้น้ำชา ขนมปัง และเค้ก ที่จัดใส่ถาดมาเสิร์ฟในห้องนอนเป็นมื้อคั้น จากนั้นเชิญชวนผู้หญิงคนอื่นๆ มาร่วม จนกลายเป็นแฟชั่น ต่อมาขยายจากอังกฤษไปยุโรป และข้ามทวีปไปยังกลุ่มอเมริกันอังกฤษ
แอนนา ดัชเชสที่เจ็ดแห่งเบดฟอร์ด
ตลอดเวลามื้อน้ำชายามบ่ายได้รับการพัฒนาให้หรูหราขึ้น มีอาหารทั้งคาวหวาน จากเสิร์ฟระหว่างกลุ่มเพื่อนในห้องนอน เปลี่ยนเป็นห้องรับแขกและสวนยามฤดูร้อน ทำให้ทั้งผู้ร่วมวงน้ำชากว้างขึ้นมีทั้งชายหญิงและเด็ก โดยผู้ร่วมสังสรรค์อยู่ในชุดสูทและกระโปรงยาว พร้อมถุงมือและหมวก มื้อน้ำชากลายเป็นพิธีกรรมที่แสดงให้เห็นฐานะทางสังคม
เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ความนิยมดื่มชาขยายตัวอย่างรวดเร็วออกไปยังทุกชนชั้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากราคาที่ถูกลง เมื่อบริษัทบริติชอีสอินเดียหันมาค้าชา และขยายตลาดชาในฐานะเครื่องดื่มแสดงรสนิยมและสถานะทางสังคม ส่งผลให้ตลาดชาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างผลกำไรมหาศาล ว่ากันว่ารายได้จากภาษีชา ของรัฐบาลอังกฤษเพียงพอต่องบประมาณบำรุงทัพเรือ ในการคุ้มครองการค้าและขยายอาณานิคมของอังกฤษไปทั่วโลก
ทว่าในอีกมุมหนึ่ง การนำเข้าชาที่เพิ่มขึ้นหมายถึงการขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจีนทั้งควบคุมการนำเข้าสินค้าและการส่งออกชา โดยห้ามนำต้นชา เมล็ดชา รวมถึงความรู้ที่จำเป็นในการปลูกและผลิตชาออกนอกประเทศ ผลประโยชน์เรื่องชา นำไปสู่ ‘สงครามฝิ่น’ สองครั้งในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่ออังกฤษนำฝิ่นที่ปลูกในอินเดียไปขายในจีนเก็บกำไรไปซื้อชา สร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลจีน เนื่องจากมีคนจีนติดฝิ่นจำนวนมาก อังกฤษจึงใช้สงครามบีบบังคับให้จีนเปิดเมืองท่าเพิ่ม และเปิดเสรีทางการค้ารวมทั้งการค้าฝิ่น ซึ่งเดิมเป็นสินค้าผิดกฎหมายในจีน
พร้อมกันนั้น อังกฤษเริ่มต้นทำไร่ชาและผลิตชาโดยอาศัยเมล็ดพันธุ์ที่ลักลอบนำมาจากจีน ใน ดาร์จิลิง อัสสัม และขยายไปยังส่วนอื่นๆ ของอินเดีย รวมถึงศรีลังกา(ซีลอน) ไร่ชาขยายตัวต่อเนื่องถึงศตวรรษที่ 20 อังกฤษเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในประเทศอาณานิคม อาทิ อินโดนีเซีย แทนซาเนีย ราวันดา โดยเฉพาะเคนยา ที่มีดินและอากาศเหมาะกับการปลูกชา ทั้งยังมีแรงงานราคาถูก จึงเป็นแหล่งผลิตสำคัญ แม้กระทั่งในปัจจุบัน เคนยาผลิตชาเป็นอันดับสามของโลกรองจากจีนและอินเดีย
ในฐานะผู้เปิดหน้าประวัติศาสตร์การผลิตแบบอุตสาหกรรม อังกฤษเปลี่ยนการผลิตชาจากงานฝีมือให้กลายเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรมและโฆษณาให้เห็นว่าระบบการผลิตด้วยเครื่องจักร “สะอาดและปลอดภัย” เหนือกว่าการผลิตด้วยมือแบบดั้งเดิมของจีน ชาจากอาณานิคมทั้งหมดได้รับการนำมาผสมผสาน และแต่งกลิ่น เพื่อให้ได้รสชาติเหมือนกันทุกครั้งแบบการผลิตในระบบอุตสาหกรรม จากนั้นตั้งชื่อและนำออกขายภายใต้แบรนด์อังกฤษ อาทิ ชาอิงลิชเบรกฟาสต์ เกิดจากการผลมชาอัสสัม ซีลอนและเคนยา ส่วนชาเอิร์ลเกรย์ มาจากความพยายามเลียนแบบเจิ้งซานเสียวจ่ง(正山小種)ชาคุณภาพสูงราคาแพงของจีน โดยการผสมชาคุณภาพต่ำกว่าจากศรีลังกากับน้ำมันเบอร์กาม็อท ด้วยวิถีต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น อังกฤษก้าวขึ้นเป็นผู้ค้าชารายใหญ่ที่สุดของโลก
Golden Syrup Cake เค้กราดน้ำเชื่อมแบบดั้งเดิม
อย่างไรก็ตามประเพณีดื่มชาอาจแพร่หลายน้อยกว่านี้ หากไม่มีน้ำตาลเป็นตัวช่วย ไม่เพียงช่วยเติมความหวานให้รสขมของชาดื่มง่ายขึ้น น้ำตาลยังมีความสำคัญต่อขนมในมื้อน้ำชา ทั้งในการผลิตแยมและทำเค้ก สร้างความสมบูรณ์แบบให้กับถาดขนม
เดิมน้ำตาลมีราคาแพง แต่เมื่ออังกฤษเริ่มทำไร่อ้อยในอาณานิคมแถบคาริบเบียน โดยอาศัยแรงงานทาสจากแอฟริกา ทำให้น้ำตาลมีราคาถูกลง อัตราการดื่มชาของชาวอังกฤษในต้นศตวรรษที่ 18 อยู่ที่ราว 0.5 ออนซ์ ต่อคนต่อปี ทะยานขึ้นเป็น 2 ปอนด์ต่อคนต่อปีเมื่อสิ้นศตวรรษ และการทาแยมบนขนมปังที่เคยเป็นของหรูหราราคาแพง กลายเป็นมาตรฐานทั่วไป ประเพณีการดื่มชาผนวกเข้าสู่วัฒนธรรมและสังคมอังกฤษ สุดท้ายกลายเป็นเอกลักษณ์ ส่วนในประเทศอาณานิคมอังกฤษ ยังมีมรดกที่เจ้าอาณานิคมทิ้งไว้ ทั้งไร่ชา การค้าชา รวมถึงความชื่นชอบดื่มชา
มื้อน้ำชายามบ่าย จึงมีที่มาจากผลผลิตหลายพื้นที่ของโลก ว่ากันว่าหากเขียนแผนที่แหล่งผลิตชาและน้ำตาล ก็จะได้พื้นที่อาณานิคมของอังกฤษ โดยนัยนี้ชาจึงเป็นเครื่องดื่มที่สะท้อนถึงความกระหายของอังกฤษ และมื้อน้ำชาที่หอมหวานซ่อนความขมขื่น เช่นเดียวกับเรื่องราวอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ ที่ล้วนแล้วแต่มีมิติอันซับซ้อน
ข้อมูลจาก
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. ฟรานซิส ไลท์ “กัปตันเหล็ก” ผู้บุกเบิกเกาะปีนัง ที่ครั้งหนึ่งมีแผนยึดเกาะถลาง (ภูเก็ต) จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_87537
Mareike Pampus. More than Colonial Vestige? Afternoon Tea as Heritage Practice in Penang (Malaysia) Human Geography Department, Martin Luther University Halle-Wittenberg, 06120 Halle, Germany 10 March 2023 จาก https://www.mdpi.com/2571-9408/6/3/155
Tasha Marks. The tea-rific history of Victorian afternoon tea https://www.britishmuseum.org/blog/tea-rific-history-victorian-afternoon-tea
Zach Luhmann. The Role of Sugar in Popularizing Afternoon Tea จาก
Afternoon Tea https://www.historic-uk.com/CultureUK/Afternoon-Tea/
Francis Light British military officer https://www.britannica.com/biography/Francis-Light
Suffolk House https://www.suffolkhouse.com.my/#/
The Real Story of Earl Grey จากhttps://www.theeastindiacompany.com/blogs/stories/the-real-story-of-the-origin-of-earl-grey-tea
Mr Edwards. The Role of Tea in British Colonialism, May 15, 2024 จาก https://easysociology.com/sociology-of-culture/sociology-of-food/the-role-of-tea-in-british-colonialism/
Comments