ในปี พ.ศ.2565 ผลกระทบจากการระบาดของโควิด19 ตัวเลขหนี้สินครัวเรือนทั้งประเทศไทย ขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนอยู่ที่ 89.3% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่า 14.97 ล้านล้านบาท เฉลี่ยครอบครัวละ 5 แสนบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี นับจากที่เคยทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี2550
แต่ที่ชุมชนรมณีย์ คนส่วนใหญ่ไม่เป็นหนี้ เพราะที่นี่เรื่องหนี้และปลดหนี้ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่แก้ปัญหาร่วมกันทั้งชุมชน
The Region ,Voice of Andaman ลงพื้นที่ ต.รมณีย์ อ.กะปง จ.พังงา ถามหาเคล็ดวิธีบริหารเงินของชุมชน ที่สามารถจัดการเงินในรูปแบบกองทุนต่างๆ และการใช้เงินออมวันละ 1 บาท ของคนในชุมชน สร้างระบบสวัสดิการของตำบลตนเองขึ้นมา
จากเดิมที่ยามเดือดร้อนต้องอาศัยเงินกู้นอกระบบ อัตราดอกเบี้ยมหาโหดร้อยละ 10 ถึงร้อยละ20 ต่อวัน คนในชุมชนสามารถแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ และใช้สถาบันการเงินชุมชนเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เช่น สถาบันการเงินชุมชนให้ กู้ซื้อมอเตอร์ไซด์ประหยัดดอกเบี้ยกว่าสถาบันการเงินหรือธนาคาร และผลกำไรจากดอกเบี้ยกลับมาเป็นเงินปันผล ตลอดจนคืนผลประโยชน์สู่ชุมชนในรูปแบบอื่นๆ
จากปัญหาการเงินที่ทำให้เราเป็นทาส ตกในวงจรหนี้สิน แต่ถ้ามีวิธีจัดการก็สามารถเปลี่ยนให้เงินมาเป็นผู้รับใช้เราได้ ซึ่งมีคนธรรมดา พิสูจน์ให้เห็น ที่ชุมชนใน จ.พังงา
กัลยา โสภารัตน์ ประธานกองทุนหมู่บ้านรมณีย์ อ.กะปง เข้ามาเป็นกรรมการหลังกองทุนหมู่บ้านตั้งมา 2 ปี โดยเข้ามาช่วยทำงานด้านการเงินในปี 2547และทำต่อเนื่องถึงปัจจุบันรวม 20 ปี
กองทุนหมู่บ้านของรมณีย์ เริ่มขึ้นในปี 2545 และ ต่อมาประสบปัญหาไม่ต่างจากกองทุนหมู่บ้านจำนวนมาก ที่มีปัญหาใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ในเวลานั้น ปัญหาร่วมกันของคนในหมู่บ้านคือ เป็นหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ และไม่มีเงินออม
“ตัวพี่เองก็เคยเป็นหนี้นอกระบบ จากการกู้มาทำทุน กู้มา 1 หมื่น ดอกเบี้ยสองพัน เจ้าของเงินเขายึดบัตรประชาชนไว้ พี่เอาเงินก้อนนี้มาค้ำประกันเงินกู้กองทุนหมู่บ้าน แล้วจึงเอาไปคืนเงินนอกระบบ คือหลักๆ ชาวบ้านที่ไม่มีเงินออม ยังไงก็ต้องกู้มาประกอบอาชีพ” กัลยาเล่าว่า เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องดูแลลูก 3 คน
เธอว่าคนที่เคยเป็นหนี้ ย่อมเข้าใจความไร้โอกาสของคนทั่วไป ที่เข้าไม่ถึงระบบธนาคาร และที่กระทบใจมากคือ “รู้สึกเหมือนไม่มีศักดิ์ศรี ต้องถูกเขายึดบัตรประชาชนไว้”
ในช่วงแรกที่เข้ามาเป็นกรรมการ กัลยาได้ไปดูงานกลุ่มออมทรัพย์ที่สงขลา และกลับมาตั้งกลุ่มออมทรัพย์ วันละ 1 บาท เดือนละ 30 บาท เพื่อให้คนรู้จักออมเงิน และนำมารวมกันเป็นเงินหมุนเวียนใช้กู้กันเอง โดยไม่ต้องพี่งเงินกู้นอกระบบ ส่วนผลได้ซึ่งเป็นดอกเบี้ยจากกลุ่มออมทรัพย์ ตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน ช่วยเหลือตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย
กองทุนหมู่บ้านรมณีย์ หมู่ 1 เริ่มต้นจากสมาชิก 50 คน เมื่อ19 ปีก่อน ปัจจุบันมีสมาชิก 1,000 คนเศษ ร่วมกันพัฒนากองทุนหมู่บ้าน จนกลายเป็นสถาบันการเงินชุมชนของทั้งตำบลรมณีย์ มีเงินหมุนเวียนให้กู้แก่สมาชิกชุมชนเพียงพอ ในอัตราดอกเบี้ย8%ต่อปี แถมยังมีเงินปันผลแก่สมาชิกและมีสัวสดิการช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต
นอกเหนือจากการให้กู้และการออม กองทุนหมู่บ้านยังช่วยสนับสนุนด้านการหารายได้ ความสำเร็จของการจัดการเงิน หนี้สิน และการออม ที่ต.รมณีย์ อ.กะปง จ.พังงา จึงเป็นการมีระบบการเงินที่ครบวงจร ทั้งการสนับสนันเงินเพื่อการลงทุน การส่งอาชีพในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ การตลาด และการออมเงิน สุดท้ายร่วมกันสร้างสวัสดิการพัฒนาชุมชนโดยรวม ดังรูปนี้
จากประมวลภาพรวมข้างต้น เราอาจสรุปเรื่องราวของชุมชนรมณีย์ และประธานกองทุนหมู่บ้าน ว่า ปมปัญหาร่วมกันของทุกคนคือหนี้สินของคนในหมู่บ้าน เป้าหมายแรกจึงมุ่งที่การเแก้หนี้สิน โดยตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาก่อน ตอนแรกกลุ่มออมทรัพย์มีสมาชิกเพียง 50 คน แต่เมื่อชาวบ้านได้รับประโยชน์ ก็มาร่วมมากขึ้น จนปัจจุบันมีสมาชิกราว 1,000 คน ทำให้มีเงินออมมากขึ้น จากเดือนละ 1,500 บาท เป็น เดือนละ ไม่น้อยกว่า 30,000 บาท เพียงพอให้หมุนเวียนกู้ยืมในชุมชน
Comments