ร้านอาหารและร้านบนถนน หาดราไวย์-กะตะ กะรน 13 ธันวาคม 2565
ภาพแถวนักท่องเที่ยวในสนามบินสร้างประกายความหวังถึงการฟื้นคืนของเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวของภูเก็ต แม้ริมหาดจะมีแสงไฟ แต่ตึกแถวตลอดจนโรงแรมที่ถูกทิ้งร้าง รถทัวร์ขนาดใหญ่จอดเรียงกันให้วัชพืชปกคลุม บอกให้รู้ว่า ความคึกคักของการท่องเที่ยวช่วงปลายปีนี้ยังห่างไกลจากช่วงก่อนโควิดอีกมาก
การประกาศเปิดหาดป่าตอง หลังถนนพังเสียหายเนื่องจากฝนตกหนักในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซ่อมแล้วเสร็จ และแสงสว่างของร้านค้าริมหาดราไวย์ ตลอดจนภาพนักท่องเที่ยวต่างชาติในย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นสัญญาณและความหวังของคนเล็กๆในเมืองหลวงแห่งเศรษฐกิจท่องเที่ยว ที่กลับมาเดินเครื่องอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี
นางประคอง พนักงานสัญญาจ้างรายวัน เทศบาลเมืองกระทู้ วัย 50 เศษ เล่าว่า ตอนนี้ทำหน้าที่ดูแลแหล่งท่องเที่ยวของเทศลาลซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ปรับปรุงจากโรงเหล้าเก่า มีลูกชายที่เพิ่งจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภูเก็ต ตอนนี้ขับรถแท๊กซี่รับส่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับมาเที่ยวภูเก็ตในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีรายได้ราว 1.5 หมื่น และเริ่มมีค่าน้ำหัวละ 700 บาท จากการพานักท่องเที่ยวเข้าร้านค้า ซึ่งสร้างความหวังให้กับเด็กหนุ่มจบใหม่วัยยี่สิบปีเศษ
ประคองกับมื้อกลางวัน
พื้นเพเดิมของประคองเป็นชาวอีสานมาแต่งงานกับชาวภูเก็ต สามีมีอาชีพขายที่ดินในยุคท่องเที่ยวเฟื่องฟู ช่วงนั้นครอบครัวมีรายได้จากการลงทุนทำห้องพักให้เช่าสำหรับคนต่างถิ่นที่มาทำงานในภูเก็ต จำนวน 16 ห้อง มีผู้เช่าเต็มตลอด ขนถึงช่วงการระบาดของโควิด 19 ห้องเช่าว่างเปล่ามามากกว่า 2 ปี จนต้องไปรับจ้างขนของย้ายบ้านเป็นรายได้ครอบครัว เธอบอกว่าตอนนี้เริ่มมีคนกลับมาเช่าบ้างแล้วราว 3-4 ห้อง เช่นเดียวกับผู้มีชีวิตผูกพันกับธุรกิจท่องเที่ยวคนอื่นๆ เธอหวังว่า สถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ และห้องเช่าจะเต็มในที่สุด
เมื่อกลางเดือน ธันวาคมที่ผ่านมา หาดป่าตองเพิ่งจัดพิธีเปิดการท่องเที่ยว หลังซบเซามากว่าสองปีจากผลกระทบโควิด 19 ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2561 และ 2562 แต่ละปีเฉลี่ยมีนักท่องเที่ยวมาภูเก็ตราว 14 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10.1 ล้านคน และ คนไทยราว 3.9 ล้านคน รายได้ภาคการท่องเที่ยวจึงเป็นรายได้หลักของจังหวัดภูเก็ต อยู่ที่ราว 4 แสนล้านบาทต่อปี
ร้านอาหารริมหาดราไวย์เปิดแล้วแต่ผู้คนยังบางตา
ข้อมูลของการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ขณะนั้นมีนักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ภูเก็ตประมาณ 2.3 ล้านคน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซียและยุโรป ปกติรายได้จากการท่องเที่ยวช่วงไฮซีชั่นเฉลี่ยราว 1 แสนล้านบาท แต่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แทบไม่มียอดจองเข้าพักในโรงแรมเพิ่มเติม ทั้งที่ปกติเป็นช่วงที่โรงแรมในภูเก็ตเต็มเกือบ 100% เที่ยวบินต่างๆ ค่อยๆ ลดลง และการจองที่พักถูกยกเลิกจนหมด
ภาพภูเก็ตช่วงไฮซีซั่นของทุกปีที่เคยคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวนานาชาติเงียบเหงาทันตา ตามมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 เช่น การประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ประกาศปิดชายหาด สุดท้ายคือ ปิดประตูบ้าน ประกาศปิดช่องทางเข้าออกจังหวัดภูเก็ต ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ส่งผลกระทบภาคท่องเที่ยวที่เป็นเศรษฐกิจหลักตลอดปี 2563-2564 แม้ในระหว่างนั้นจะมีความพยายามเปิดการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตตามมาตรการ Sand Box แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งสถานการณ์การระบาดของโรคคลี่คลาย และประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในกลางปี2565
ความพยายามเปิดเกาะภูเก็ต และเมืองท่องเที่ยวบริวารคือ ภูเก็ต พังงาและกระบี่ เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวและพื้นที่การท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวสูงที่สุดคือ กลุ่มชายฝั่งอันดามัน ภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง สร้างรายได้ราว 6.45 แสนล้านบาท ( 625,451 ล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งตัวเลขรวมการใช้จ่ายการท่องเที่ยว (Internal tourism consumption)ของไทยอยู่ที่ ราว 3 ล้านล้านบาท (3,030,875 ล้านบาท ) ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศราว 1.95 ล้านล้านบาท ( 1,949,116 ล้านบาท) ค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวใน ประเทศของคนไทยราว 1.08 ล้านล้านบาท ( 1,081,759 ล้านบาท)
ความสำคัญของการท่องเที่ยวสะท้อนผ่านตัวเลขการจ้างงาน ในปี 2562 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่งผลให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 4 ล้านคน ( 4,366,392คน) คิดเป็น ร้อยละ 11.61 ของการจ้างงานรวมของประเทศ ที่อยู่ที่ 37 ล้านคน ( 37,613,438 คน) หมายถึงว่าหนึ่งในสิบของการจ้างงานมาจากอุตสาหรรมการท่องเที่ยว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจึงมีความหมายถึงความหวังของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะภูเก็ตซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
สองปีที่ผ่านจึงเป็นช่วงเวลาของความยากลำบาก และความพยายามประคองชีวิตของผู้คนที่ขึ้นต่อการท่องเที่ยว ในหลากหลายรูปแบบ ธิติรัตน์ ชาวภูเก็ตวัย 65 ปี เล่าว่า สองปีเศษที่ผ่านมา ได้อาศัยข้าวสารและเสบียงอาหารที่มี สมาคม หรือ ธุรกิจเอกชน นำมาแจกช่วยเหลือคนรายได้น้อย โดยชาวบ้านคอยตามข่าวความช่วยเหลือจากสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งโดยหลักๆ ของที่ได้รับคือ ข้าวสารครอบครัวละ 15 กก. ก่อนหน้านี้ ธิติรัตน์เป็นลูกจ้างสัญญารายปี มีรายได้วันละ 350 บาทแต่ถูกเลิกจ้างจากผลกระทบของโควิด 19 ตอนนี้เธอมาเป็นลูกจ้างรายวันของเทศบาล มีรายได้วันละ 300 บาทโดยเป็นพนักงานเสริมจึงไม่ได้ทำงานทุกวัน เฉลี่ยรายได้ต่อเดือน ราว 4000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จึงต้องหารายได้เพิ่มด้วยการเพาะลูกเหรียงขาย ต้นทุนเมล็ดลูกเหรียงอยู่ที่ กก.ละ 100 บาท เมื่อนำมาตัดส่วนปลายที่แข็งและเพาะให้รากงอก โดยใช้เวลาราว 4 วัน ขายได้ กก.ละ 160 บาท
ธิติรัฐ ชาวภูเก็ต วัย 65
โชคดีอยู่บ้าง ขณะที่โรงแรม ร้านอาหารส่วนใหญ่ต้องปิดตัวลง แต่ลูกชายหญิง 2 คนของธิติรัตน์ ทำงานในโรงแรมใหญ่เครือต่างชาติ ซึ่งไม่ปิดตัวและไม่เลิกจ้างงาน แต่มีเงื่อนไขให้พนักงานช่วยนายจ้าง โดยต้องยอมรับการถูกลดเงินเดือนเหลือสุทธิราว 1 หมื่นบาทต่อคน
ภูเก็ตมีรายได้จากการท่องเที่ยวราว 90% ของรายได้จังหวัด สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ อันดับสองคือ จังหวัดพังงา และอันดับสามคือ กระบี่ โดยภาพรวมประเทศไทยมีรายได้รวมจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ต่อเนื่องกับห่วงโซ่การผลิตกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมกันราว 3 ล้านล้านบาท (3,005,552 ล้านบาท) หรือราว 18 % ของรายได้ประเทศ (ร้อยละ 17.79 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศหรือGDP )
ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.2565 ) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยราว 7.1 ล้านคน โดยสองเดือนสุดท้ายของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น เฉลี่ยราว 5 หมื่นคนต่อวันและครบ 10 ล้านคนช่วงวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ข้อมูลที่แถลงโดย ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวของไทยช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 ระบุจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด 10 อันดับ
อันดับ | จังหวัด | รายได้(ล้านบาท) |
1 | ภูเก็ต | 127,927 |
2 | ชลบุรี | 13,283 |
3 | สุราษฎร์ธานี | 7.586 |
4 | เชียงใหม่ | 4.246 |
5 | สงขลา | 3,602 |
6 | พังงา | 2,582 |
7 | เชียงราย | 1,585 |
8 | กระบี่ | 1,408 |
9 | ประจวบคีรีขันธ์ | 854 |
10 | หนองคาย | 526 |
ส่วน 3 อันดับแรก จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เข้ามามากที่สุด คือ
อันดับ | จังหวัด | จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (คน) |
1 | ภูเก็ต | 2,329,894 |
2 | ชลบุรี | 975,026 |
3 | สราษฎร์ธานี | 606,812 |
ในภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว เศรษฐกิจการท่องเที่ยวสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นหัวใจที่สูบฉีดหล่อเลี้ยงธุรกิจและชีวิตผู้คน ช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งกำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ รัฐไม่มีเงิน หนี้สินภาครัฐขยายเพดานสูงถึง 40% ขณะที่หนี้เสียภาคครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการกระจายรายได้และการสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นยังคงเป็นหนทางที่ควรไปถึง
ข้อมูลอ้างอิง: บัญชีประชาชาติการท่องเที่ยวปี2562 ,การท่องเที่ยวภูเก็ต
Comments