ย้อนรอยหาจุดตั้งต้นความพยายามในการเดินทางลัดข้ามสองฝั่งทะเลของคาบสมุทรมลายูเพื่อการค้าทางเรือที่เร็วขึ้น มีมานานนับตั้งสมัยอยุธยาและยุคอาณานิคม สู่ยุคการพัฒนาและจนปัจจุบันความคิดนี้ยังคงมีอยู่ในบริบททางเศรษฐกิจการเมืองของแต่ละยุค จนถึงหลังราว พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา เป็นการผลักดันด้วยแนวคิดแลนด์บริดจ์ ที่ลอกเลียนจากตะวันตกซึ่งของรัฐไทยพ่วงเข้ากับแนวคิดเขตอุตสาหกรรมด้วย
แหลมริ่ว จ.ชุมพร บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงโครงการแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร
พระนารายณ์ริเริ่ม และรัฐกรุงเทพฯเคยอนุญาต
ความสำคัญของเส้นทางการเดินเรือจากทะเลฝั่งตะวันตกผ่านคาบสมุทรมาลายูสู่เอเชียตะวันออก ทำให้ผู้คนพยายามหาทางลัดเพื่อข้ามคาบสมุทร
ในโลกโบราณยุคที่อินเดียเรียกดินแดนบริเวณนี้ว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นเมืองท่าการค้า มีร่องรอยทางโบราณคดีของเส้นทางการค้าข้ามสมุทรมีหลายเส้นทาง เช่น เส้นทางข้ามคาบสมุทร ตะกั่วป่า-อ่าวบ้านดอน คือจากทะเลตะวันตกมาขึ้นฝั่งที่เมืองตะโกละหรือตะกั่วป่า แล้วเข้ามาตามลำน้ำตะกั่วป่าจากนั้นขึ้นบก ข้ามเขาสกมาลงที่ลำน้ำตาปี ออกไปไชยา แล้วออกอ่าวบ้านดอนที่สุราษฎร์ธานี รวมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรมลายูยุคโบราณมีไม่น้อยกว่า 9 เส้นทาง
อ้างอิง เพจ สำนักศิลปากรที่12 นครศรีธรรมราช
ความริเริ่มที่สร้างเส้นทางเชื่อมสองทะเลที่ชัดเจน เกิดขึ้นสมัยอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ.2220 (ค.ศ.1677) สมัยพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยให้ เดอ ลามา วิศวกรชาวฝรั่งเศส สำรวจความเป็นไปได้ในการขุดคลองเพื่อเชื่อมสองฝั่งทะเลระหว่างเมืองสงขลากับเมืองมะริด (ขณะนั้นมะริดเป็นของอยุธยา) เพื่อการเคลื่อนทัพและการค้า อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีขณะนั้นยังไม่เอื้อต่อการขุดคลอง
ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2336 (ค.ศ.1793) สมัยรัชกาลที่ 1 มีดำริของพระอนุชารัชกาลที่ 1 คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท บนแนวคิดด้านความมั่นคงเพื่อป้องกันดินแดนฝั่งทะเลตะวันตกโดยขุดคลองเป็นเส้นทางให้เดินทัพเรือได้รวดเร็วขึ้น
ครั้งต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 บริษัท บริติชอีสต์อินเดีย ซึ่งต้องการควบคุมเส้นทางการเดินเรือ ได้ติดต่อราชสำนักสยามในปี พ.ศ.2401 (ค.ศ.1858) ขออนุญาตขุดคลองลัดตรงเส้นทางระนอง-หลังสวนซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาติและได้เริ่มดำเนินการ แต่ประสบปัญหาเรื่องเงินทุนเสียก่อน การขุดจึงยุติไปกลางคัน อีก 5 ปีต่อมา อังกฤษได้พม่าเป็นอาณานิคมและทำการสำรวจเส้นทางหาเส้นทางที่สั้นที่สุด โดยกำหนดจุดขุดคลองตรงคลองกระ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวิกตอเรีย พอยย์ฝั่งพม่า แต่เทคโนโลยีไม่เอื้อต่อการขุดผ่านภูมิประเทศที่เป็นภูเขาบริเวณคอคอดกระ แม้จะเป็นระยะทางแคบที่สุดราว 44 กม.
ช่วงปี พ.ศ.2409-2411 (ค.ศ.1866-1868) หลังการฝรั่งเศสขุดคลองสุเอซ ย่นระยะทางระหว่างยุโรปและเอเชีย ไม่ต้องอ้อมแหลมมกู๊ดโฮปสำเร็จ ฝรั่งเศสได้ติดต่อเพื่อขุดคลองลัดข้ามแหลมมลายู แต่รัชกาลที่ 4 ไม่ทรงอนุญาตด้วยไม่วางใจฝรั่งเศส ท้ายสุดในปี พ.ศ.2440 (ค.ศ.1897) จักรวรรดิอังกฤษซึ่งยึดครองสิงคโปร์เป็นอาณานิคม(Crown Colony) อย่างสมบูรณ์ได้แล้วเมื่อ 30 ปีก่อน( ปี พ.ศ.2410 /ค.ศ.1867) ได้ทำสัญญากับสยามไม่ให้มีการขุดคลองลัดแหลมมลายู เพราะต้องการควบคุมเส้นทางการเดินเรือให้ท่าเรือสิงคโปร์ของอังกฤษดำรงความสำคัญ
จาก 'คอคอดกระ' ถึง 'คลองไทย' สู่ 'แลนด์บริดจ์' 1.1ล้านล้านบาท
ราวปี พ.ศ.2478 นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย รื้อฟื้นโครงการขุดคลองคอคอดกระ แต่ระหว่างที่ศึกษาความเป็นไปได้ เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จนปี พ.ศ. 2488 เมื่อสงครามโลกยุติ ไทย (ซึ่งตอนแรกอยู่ฝ่ายอักษะและถูกอังกฤษตั้งแง่ให้เป็นประเทศผู้แพ้สงครามแม้นายปรีดีจะอ้างถึงความสมบูรณ์ทางกฎหมายระหว่างประเทศของการประกาศสงคราม เพราะนายปรีดีในฐานะหนึ่งในผู้สำเร็จราขการแผ่นดินไม่ได้ลงนาม) ต้องยอมทำสัญญาความตกลงสมบูรณ์แบบ มีข้อความสำคัญ ว่า “รัฐบาลไทยรับว่า จะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทยเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย โดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรมิได้เห็นพ้องด้วยก่อน”
ต่อมาภายหลังไทยต่อรองเพื่อยกเลิกข้อตกลงห้ามขุดคอคอดกระ กับอังกฤษสำเร็จ และรื้อฟื้นโครงการขุดคอคอดกระขึ้นมาใหม่ โดยในปี พ.ศ.2513 รัฐบาลไทยจ้างบริษัท Tams (แทมส์) ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และพบว่าการขุดคลองบริเวณคอคอดกระ (ระนอง ถึงชุมพร) ทำได้ยากเพราะเป็นพื้นที่ภูเขามาก แทมส์ชี้ว่า น่าจะขุดบน 'เส้นทาง 5A' เริ่มจากฝั่งจังหวัดสตูลไปออกที่สงขลา โครงการนี้จึงเปลี่ยนชื่อจากการ 'ขุดคอคอดกระ' เป็น 'ขุดคลองไทย'
ในช่วงศตวรรษที่ 20 แนวคิดคลองไทยมีการเปลี่ยนแปลงสู่เส้นทางต่างๆ หลายแนว อาทิ การเชื่อมอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับจังหวัดพังงา และการศึกษาในปี ค.ศ. 1970 เสนอเสนอทางสตูล-สงขลา อย่างไรก็ตาม ประเด็นการแบ่งแยกดินแดนกับโครงการการขุดคลองที่จะตัดภาคใต้เป็นสองฝั่ง ส่งผลให้รัฐบาลในช่วงดังกล่าวชะลอโครงการขุดคลองเชื่อมทะเลสองฝั่ง ด้วยเหตุผลความมั่นคง
ในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีการผลักดันโครงการขุดคอคอดกระโดยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น แต่ไม่สำเร็จเพราะมีการคัดค้านทางวิชาการ
กล่าวโดยสรุปด้วยบริบทการเมืองในช่วงสงครามเย็น แนวคิดการขุดคลองเชื่อมสองฝั่งทะเล ถือเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคง ในเวลาต่อมาเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป จึงเกิดแนวคิดแลนด์บริดจ์ โดยที่แนวคิดขุดคลองไทยก็ยังถูกเสนอควบคู่กัน
แนวคิดแลนด์บริดจ์ (Land bridge) เป็นเส้นทางบนแผ่นดิน เช่น ระบบราง หรือถนนเชื่อมโยงการจัดส่งสินค้ากับการขนส่งทางทะเลที่มีต้นทางหรือปลายทางของสินค้าอยู่ต่างประเทศ
ในรายงานเรื่อง "โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการ เชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทย และอันดามันของประเทศไทย" จัดทำโดย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์บริการวิชาการแห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ข้อมูลโครงการ Land bridge ในต่างประเทศ 3 แห่งได้แก่ สะพานเศรษฐกิจอเมริกาเหนือ (North American Land bridge) ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งตะวันออกกับท่าเรือฝั่งตะวันตกของอเมริกาเหนือด้วยระบบการขนส่งสินค้าทางราง สะพานเศรษฐกิจยุโรปเอเชีย (Eurasian Land bridge) ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับรัสเซียและทวีปยุโรปด้วยระบบการขนส่งสินค้าทางราง และ สะพานเศรษฐกิจออสเตรเลีย (Australia Land bridge)เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าภายในประเทศ ระหว่างตอนบน (เมือง Darwin) กับเมืองตอนใต้ (เมือง Adelaide)
ในไทยโครงการแลนด์บริดจ์หรือ 'สะพานเศรษฐกิจ' ที่ชัดเจน ปรากฏในช่วงรัฐบาลพลเอก ชาติชาย
ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี จากการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2532 ที่จะพัฒนาเส้นทาง อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช กับ อ.เมือง จังหวัดกระบี่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ครม. มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนา นำไปสู่แผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามก็ยังมีความพยายามผลักดันโครงการคลองไทย ควบคู่กับแลนด์บริดจ์ โดยในปี พ.ศ.2549 วุฒิสภาได้ทำการศึกษาคลองไทยและผลักดันทั้งสองแนวคิดต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทั้งนี้โครงการคลองไทยเป็นการขุดคลองขนาดใหญ่ เชื่อมทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย คลองไทยจะตัดผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ยาว 135 กม. รูปแบบของคลองมี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก มีคลองหลักขนาดใหญ่คลองเดียว เรือเข้า-ออก ได้ในคลองเดียวกัน และรูปแบบที่ 2 มีคลองหลักขนาดใหญ่เป็นคลองคู่ขนาน 2 คลอง เรือเดินสมุทรสามารถเข้า-ออก ในคลองคนละเส้นทางเพื่อรองรับเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
การขุดคลองไทยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่เท่านั้น หากแต่ได้พ่วงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ในนาม การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ด้วย เพื่อแข่งกับโครงการแลนด์บริดจ์
4+1 แลนด์บริดจ์ไทย
โครงการแลนด์บริดจ์ มีภูมิหลังของการผลักดันยาวนานกว่า30 ปีในพื้นที่ 4 เส้นทาง+1
1.เริ่มจากการผลักดันแนวแรก ช่วง พ.ศ.2536-40 แนวเส้นทางกระบี่-ขนอม
2. ช่วง พ.ศ.2540-47 การผลักดันเส้นทางทับละมุ จังหวัดพังงา-อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยไจก้าของญี่ปุ่นศึกษาและประเมินความเสี่ยงจากคลื่นยักษ์สึนามิในทะเลอันดามัน ประกอบกับเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในปี พ.ศ.2547 ญี่ปุ่นจึงถอนตัว
3.ช่วง พ.ศ.2548-61 เส้นทางปากบารา จังหวัดสตูล-สงขลา กลุ่มประชาชนในท้องถิ่นคัดค้านและประท้วงยาวนานจนถึงมาประท้วงที่กรุงเทพ ข้อเรียกร้องสุดท้ายคือให้ทำการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์(SEA) นอกเหนือจากการศึกษาเฉพาะผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)
4.ช่วง พ.ศ.2561-ปัจจุบัน แลนด์บริดจ์แนวเส้นทางชุมพร-ระนอง จากการศึกษาของสนข. ภายใต้การผลักดันของพรรคภูมิใจไทยในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
5. เส้นทาง+1 ในอดีตช่วงสั้นๆ ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มีแนวคิดการพัฒนาร่วมกับมาเลเซีย จากฝั่งอันดามันของมาเลเซียกับสงขลาฝั่งไทย
จากบริบทในยุคอาณานิคมมาสุ่ยุคสงครามเย็น การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองโลกในระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์เป็นปัจจัยส่งผลต่อประเทศไทยที่เชื่อมระบบเศรษฐกิจของตนเข้าสู่การพึ่งพิงการเติบโตของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกอย่างสำคัญ
New Geo-Politics :การต่อสู้ของมหาอำนาจเดิมและใหม่
กลุ่มมหาอำนาจตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกาเริ่มจับตามังกรที่ตื่นจากหลับ รายงานธนาคารโลกในปี พ.ศ.2549 (ค.ศ.2006) ระบุว่าจีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอับดับ 4 ของโลก และเศรษฐกิจของจีนยังเติบโตต่อมาอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี พ.ศ. 2549-2562 (ค.ศ.2006-2019) GDP ของจีนเฉลี่ยที่ 9% และ ภายใน 4 ปี จีนขยับจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 4 เป็นอันดับ 2 ของโลก ปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ.2010) รองจากสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ.2019) GDP จีน อยู่ที่ 446 ล้านล้านบาท และคาดว่าในปี พ.ศ.2571 (ค.ศ.2028)หรือ 5 ปี ข้างหน้า เศรษฐกิจของจีนจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เกิดนโยบายปิดล้อมจีนของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร
อ้างอิง: https://www.busandtruckmedia.com
เส้นทางสู่การเลือกแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง
ประเทศไทยในบริบทของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องกว่า 10 ปี รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ พยายามสร้างจุดขายต่อทุนต่างประเทศ (Foreign Investments) โดยแลนด์บริดจ์ผนวกกับเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ถูกผลักดันเป็น 'แรงดึงดูดใหม่' หวังเป็นจุดขายของประเทศไทยในช่วง 10 ปีหน้า เพื่อดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง และพยายามเชื่อมกับแนวคิดเส้นทางสายไหมใหม่ (One Belt One Road) ของจีน
การเลือกแนวคิดแลนด์บริดจ์ แทน โครงการ คลองไทย สะท้อนจากมติ ครม. 15 กันยายน พ.ศ.2563 มีมติเห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)(ซึ่งขณะนั้นพรรคภูมิใจไทยคุมกระทระทรวงคมนาคม)ศึกษาความเหมาะสม รูปแบบการพัฒนาการลงทุนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทย-อันดามัน เพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ งบประมาณ 68 ล้านบาทซึ่งผลการศึกษาสิ้นสุดปี2565 ได้เสนอ 3 เส้นทางและเลือกแลนด์บริดจ์เส้นทางชุมพร-ระนอง ในที่สุด และต่อมารัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย มีมติ ครม.เห็นชอบในหลักการเมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2566 และเสนอชวนลงทุนในที่ประชุม Belt &Road Forum ที่จีน ในวันรุ่งขึ้น และนำเสนอชักชวนนักลงทุนในที่ประชุมเอเปกที่สหรัฐอเมริกาในเดือนถัดมาวันที่ 14-15 พฤศจิกายนพ.ศ.2566
ภาพเส้นทาง จากการศึกษาของสนข. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
แหล่งข้อมูล :
Strategic Implications of the possible construction of the Thai canal .by Ivica Kinder Croatian /International Relations Review July-December2007
แลนด์บริดจ์ อ่าวไทย – อันดามัน อภิมหาโครงการ 2 ทศวรรษ. Hiso.or.th
ลงทุนแมน,ประเทศจีนกำลังจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Commentaires