ไขข้อมูล: เปิดขุมทรัพย์อุทยานแห่งชาติ
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาพจาก DigitalIDDay,Pixabay
การจับกุมอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช โดยการล่อซื้อและตรวจค้นพบเงินสด 4.9 ล้านบาทในห้องทำงานอธิบดี เมื่อ 27 ธ.ค.65 นำไปสู่การจับกุมก่อนศาลให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 4 แสนบาท
สังคมเกิดข้อสงสัยว่า ผลประโยชน์ในกรมอุทยานมาจากไหน ทำไมราคาการซื้อหรือรักษาเก้าอี้ จึงสูงและมีเงินสะพัดรายเดือนหลายล้านบาท
ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ปปช.(คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ชี้ว่า มีการประมูลตำแหน่งในกรมอุทยานฯ โดยเสนอราคาทั้งการจ่ายเงินครั้งแรกและการแบ่งประโยชน์ จัดสรรและจัดส่งให้ "นาย" เป็นรายเดือน
ขณะที่อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ นายดำรงค์ พิเดช ให้รายละเอียดของปัญหาว่า อำนาจแต่งตั้งเป็นอำนาจปลัดกระทรวง แต่อำนาจของอธิบดี อยู่ที่คำสั่งปฏิบัติงาน ว่าจะกำหนดให้ใครปฎิบัติงานในอุทยานใด ซึ่งเป็นอำนาจอธิบดีโดยตรง ดังนั้นเพื่อแลกกับการขอย้าย,การคงอยู่ตำแหน่งเดิมหรือการคงหน้าที่ตามคำสั่งปฏิบัติงานเดิม จึงมีการเสนอจำนวนเงินที่สื่อเรียกให้เข้าใจง่ายว่า "ประมูลเก้าอี้"
ทั้งหมดทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ผลประโยชน์ในกรมอุทยาน คืออะไร มาจากไหน จึงมีเงินมาส่ง "นาย" ได้หลายล้านต่อเดือน ซึ่งมีการสันนิษฐานไว้ สองประเด็นคือ การตัดแบ่งมาจากงบประมาณ และรายได้จากการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ
อำนาจและแหล่งผลประโยชน์กรมอุทยาน
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช แบ่งเป็น 11 ส่วนงาน โดยส่วนงานสำคัญซึ่งดูแลพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ คือสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 ซึ่งจะแบ่งเขตอำนาจในการดูแลจัดการพื้นที่รับผิดชอบพื้นที่อนุรักษ์ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
แผนที่อุทยานแห่งชาติในประเทศไทย
The Region เปิดรายงานรายได้จากอุทยานแห่งชาติ ในช่วง 9 ปีย้อนหลัง พบว่า ในปี พ.ศ.2557 และ 2558 รายได้จากการท่องเที่ยวของอุทยานต่ำกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี จนถึงปี 2559 รายได้จากการเที่ยวอุทยานเพิ่มมากกว่าเท่าตัว จาก 896 ล้านบาทในปี 2558 กระโดดมาที่ 1,982 ล้านบาท
เมื่อดูภาพรวมรายได้จากกราฟแสดงรายได้จากอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศในช่วง7 ปีหลัง จะเห็นว่านับจากปี 2559 รายได้จากอุทยานมากกว่า 2,000 ล้านบาท ต่อเนื่องกันโดยตลอดกว่า 5 ปี ก่อนจะตกลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผลกระทบการระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงกลางปี 2565 รายได้ในปี 2564 ตกต่ำสุดที่ 390 ล้านบาท ก่อนจะเริ่มเพิ่มขึ้นในปี 2565 เมื่อภาครัฐลดความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรคลง และเปิดการท่องเที่ยวมากขึ้นตามลำดับ
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2565 สร้างรายได้สูงถึง 192ล้านบาท จากค่าธรรมเนียมอุทยานทั่วประเทศในช่วงเดือน ต.ค.และ พ.ย.2565 เพียง 2 เดือนเท่านั้น
กราฟแสดงรายได้จากอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ที่มา The Region / VOA Voice of Andaman
จุดที่เกิดการคอรัปชั่นด้านรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยาน คือ ตั๋วเวียนเข้าชมอุทยานแห่งชาติ โดยก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.พบพิรุธระบบการเก็บเงินค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวอุทยานในเขตภาคใต้ หลังยังไม่ยอมใช้ ระบบ e-ticket เข้ามาแทนการเก็บค่าธรรมเนียมอุทยานเป็นเงินสด
เจ้าหน้าที่ปปช.เชื่อว่า รายได้จริงสูงกว่าเงินเข้าระบบรัฐตามที่รายงาน และสงสัยว่า รายได้ที่รั่วไหลเหล่านี้คือ แหล่งผลประโยชน์สำคัญที่ถูกจัดสรรให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจ เพื่อการซื้อ-ขายตำแหน่ง เพราะในการประเมินจากจำนวนนักท่องเที่ยว พบว่า อุทยานแห่งชาติทางทะเลในอันดามันบางแห่งเพียงแห่งเดียว หากมีการจัดเก็บค่าเข้าชม ที่ถูกต้องและไม่รั่วไหล รัฐจะมีรายได้สูงถึง500 ล้านบาท
โครงสร้างและอำนาจการจัดการพื้นที่อุทยานและป่าไม้โดยกรมอุทยานแห่งชาติ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งเกิดขึ้น ในปี 2545 จากเดิมที่ กรมป่าไม้ ดูแลพื้นที่ป่าหมด ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าชายเลน โดยกรมป่าไม้ อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ต่อมา 20 ก.ย. 2545 วุฒิสภาลงมติให้แยกงานป่าเศรษฐกิจอยู่กับกรมป่าไม้ ส่วนงานด้านอนุรักษ์และการคุ้มครองป่าไม้ให้มาตั้งเป็นกรมใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกา เล่มที่ 119 ลงวันที่ 2 ต.ค.2545 คือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอธิบดีคนแรกคือ นายปลอดประสพ สุรัสวดี
ปัจจุบันการดูแลป่าไม้ แบ่งเป็น 3 กรม คือ กรมป่าไม้ดูแล พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งขาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช ดูแลพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เป็นกรมใหญ่ สุดท้ายคือ กรมทรัพยากรทางทะเล ดูแลพื้นที่ป่าชายเลน
ข้อมูลรายได้จากอุทยานแห่งชาติให้ความชัดเจนในระดับหนึ่งกับปรากฏการณ์เงินสะพัดเพื่อซื้อ รักษา และจองเก้าอี้ในกรมอุทยานแห่งชาติฯ
ทั้งนี้กรณี นายนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตำรวจอาศัยการร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นเหตุ เพื่อให้ตำรวจมีอำนาจทางกฏหมายในการจับกุม ฐานเรียกรับเงินในการโยกย้ายตำแหน่งจากหัวหน้าหน่วยงานภาคสนาม โดยใช้การล่อซื้อและตำรวจเข้าไปตรวจค้นถึงห้องทำงานอธิบดีกรมอุทยาน พบเงินสดบนโต๊ะทำงานและห้องแต่งตัว เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.65 ซึ่ง นายรัชฎา ยังให้การปฏิเสธและอ้างว่า ถูกกลั่นแกล้ง ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งให้ นายรัชฎา ช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี
ข้อมูล อ้างอิง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,ฐานข้อมูลสำนักอุทยานแห่งชาติ ,การให้สัมภาษณ์ของนายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
Comments